ท่าอากาศยาน เชียงใหม่มีปริมาณผู้โดยสารแออัดคับคั่ง ราว 8 ล้านคนต่อปี โดยก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวนผู้โดยสารมีมากถึง 12 ล้านคนต่อปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับระยะยาว รายงานข่าวจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า
ทอท. อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาวงเงิน 325.800 ล้านบาทเพื่อ สำรวจออกแบบ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปัจจุบัน เสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เห็นชอบแล้ว คาดว่าออกแบบแล้วเสร็จภายในกลางปี 2564 จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลภายในกลางปี 2565 ถึงการศึกษารูปแบบการลงทุนโครงการฯ นั้น เบื้องต้นทอท.จะเป็นผู้ลงทุนดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด เนื่องจากเล็งเห็นว่าได้รับผลตอบแทนทางการเงินที่ดี รวมทั้งสถานะทางการเงินของทอท.ยังสามารถดำเนินการลงทุนได้ ถึงแม้ปัจจุบันโครงการฯอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ คาดว่าจะมีการปรับกรอบวงเงินโครงการฯ เพิ่มเติม
“สาเหตุที่เราดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่นั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้อาคารผู้โดยสารร่วมกันทั้งอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ทำให้มีแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขณะที่อาคารผู้โดยสารหลังเดิมเป็นอาคารรองรับปริมาณผู้โดยสารภายใประเทศทั้งหลัง”
หากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์เห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ภายในปลายปี 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง โดยพื้นที่ในโครงการฯไม่มีการประเมินพื้นที่เวนคืนที่ดิน เพราะเป็นการดำเนินการในพื้นที่ของทอท.ทั้งหมด ขณะที่การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ดำเนินการควบคู่กับการสำรวจออกแบบโครงการฯ
โดยปัจจุบันได้เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว เบื้องต้นอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดรายงานการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับเดิม โดยปกติการจัดทำอีไอเอ ทอท.จะเสนอด้านการก่อสร้างโครงการฯตามแผนการดำเนินงานฉบับเดิม แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม ทำให้ต้องมีการปรับรายละเอียดของอีไอเอฉบับใหม่
“ส่วนเอกชนสนใจร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 หรือไม่นั้น โดยส่วนใหญ่อาคารรองรับผู้โดยสารมีความคุ้มค่าทางการเงิน ทอท.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนทั้งหมด หลังจากนั้นจะให้เอกชนดำเนินการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของโครงการฯ ซึ่งจะทำให้ทอท.ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น”
สำหรับพื้นที่การก่อสร้างโครงการฯ พัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (อาคารหลังใหม่) พื้นที่ 70,100 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิม จำนวน 48,300 ตารางเมตร (ตร.ม.) รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่จอดรถ การขยายลานจอดอากาศยานและการปรับปรุงระบบถนน ฯลฯ ทั้งนี้ ทอท.ตั้งเป้าหมายรองรับปริมาณจราจรทางอากาศภายในปี 2568 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มขีดรองรับอีก 1 เท่าตัวจากปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปี
ส่วนความคืบหน้าโครงการมีการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาออกแบบศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมแก่การก่อสร้างโครงการฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพของการเดินทางทางอากาศ เนื่องจากต้องใช้วงเงินงบประมาณลงทุนสูง อีกทั้งมีความคุ้มค่าในการดำเนินการหรือไม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นแผนแม่บทระยะยาว 5 ปี หากศึกษาแล้วเสร็จมีความเหมาะสมสามารถดำเนินการโครงการฯได้ หลังจากนั้นจะเริ่มออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้เต็มศักยภาพเพียงพอต่อการรองรับปริมาณผู้โดยสาร หากยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมค่อยเริ่มดำเนินการต่อไป
ข่าวหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง