"Phuket Sandbox" กับข้อพึงระวัง "หมอเฉลิมชัย" ชี้รายได้หมื่นล้านอาจไม่คุ้มกับงบคุมโควิด

06 มิ.ย. 2564 | 05:15 น.

หมอเฉลิมชัยเผย "Phuket Sandbox" กับข้อพึงระวัง " ชี้รายได้เข้ามา 1 หมื่นล้านบาทอาจน้อยกว่างบประมาณที่ต้องใช้ควบคุมโควิด-19

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
    Phuket Sandbox ข้อเสนอของการท่องเที่ยว ที่จะเปิดภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 กรกฎาคม 2564
    ตามที่ ศบศ.(ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ได้ประชุมและเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น สำหรับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งประกอบด้วย
    1.ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน ที่องค์การอนามัยโลกหรือประเทศไทยให้การรับรอง ฉีดมาแล้วมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี
    ข้อพึงระวัง : ควรจะได้รับวัคซีนมาแล้วมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 6 เดือน เพราะมีหลักฐานทางวิชาการว่า เมื่อฉีดวัคซีนผ่านไปแล้ว 6 เดือนจะเริ่มมีระดับภูมิต้านทานลดลง
    2.ต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงในการระบาดต่ำหรือปานกลาง
    ข้อพึงระวัง : ควรกำหนดเพิ่มเติมว่า แม้เป็นประเทศความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง ก็จะต้องไม่มีไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนระบาดอยู่เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์อินเดีย เป็นต้น
    3.เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีซึ่งไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ให้เข้ามาได้เลยพร้อมพ่อแม่ ส่วนเด็กอายุ 6-18 ปี ก็ยังฉีดวัคซีนไม่ได้ ให้เข้ามาพร้อมกับครอบครัว แต่ให้ตรวจเชื้อไวรัสที่สนามบินภูเก็ต
    ข้อพึงระวัง : ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการได้ จึงยังมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อเข้ามา แม้พ่อแม่จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
    4.ให้พักอยู่ในโรงแรม และสามารถเดินทางภายในเขตจังหวัดภูเก็ตได้อย่างน้อย 14 วัน จึงจะออกไปส่วนอื่นของประเทศไทยได้
    ข้อพึงระวัง : ถ้าเป็นผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ แม้เป็นนักท่องเที่ยวผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว จะป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ แต่อาจจะมีบางส่วนติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อยและแพร่เชื้อได้ รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมากับครอบครัวที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็อาจแเพร่เชื้อได้ภายในเกาะภูเก็ต
    ประการสำคัญ คงลำบากที่จะป้องกันคนภูเก็ตไม่ให้ออกมานอกเกาะ และคงยากที่จะห้ามไม่ให้คนไทยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แวะเข้าไปที่จังหวัดภูเก็ต ก็จะทำให้ มีโอกาสนำเชื้อที่มาจากนักท่องเที่ยวดังกล่าว ออกจากภูเก็ตไปยังจังหวัดอื่นๆ

Phuket Sandbox กับสิ่งที่พึงระวัง
    ในประเด็น Phuket Sandbox นับว่าเป็นความริเริ่มที่ดีและน่าจะมีประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจ เพียงแต่ระยะเวลาที่เริ่ม 1 กรกฎาคมอาจจะเป็นห้วงเวลาที่มีข้อต้องระวังอยู่มาก เพราะประเทศไทยกำลังติดเชื้อค่อนข้างมาก และวัคซีนก็ยังฉีดได้ไม่ครบ รวมทั้งในอีกหลากหลายประเทศ ก็มีไวรัสกลายพันธุ์เป็นจำนวนมาก คงต้องชั่งใจให้ดี ระหว่างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่คาดว่าสามเดือนจะเข้ามา 100,000 คนเศษ และนำรายได้มา 10,000 ล้านบาท กับถ้ามีจุดอ่อนเกิดขึ้น ที่ทำให้เกิดแพร่เชื้อออกไปได้ งบประมาณที่รัฐจะต้องเทลงไป เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด อาจจะมากกว่ารายได้ที่ได้จากการเปิดภูเก็ตก็ได้
    สมควรไตร่ตรองให้รอบคอบ และถ้าจะเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป ก็ต้องเร่งปิดจุดอ่อนต่างๆตามข้อพึงระวังดังกล่าวข้างต้นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วย
    ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวมากจากการที่ ศบศ. เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มี ความเสี่ยงต่ำ และปานกลาง ของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะมีการดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
    โดยมีการกำหนดแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ดังนี้ (1) เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (2) กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อ เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต (3) มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) (4) มีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน (5) ต้องเข้าพักในโรงแรมที่ที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ เป็นเวลา 14 คืน และภายหลังที่พักตามระยะเวลาที่กำหนดสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ และ (6) รายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และ สามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน 
    ขณะเดียวกัน มีการดำเนินการเตรียมพื้นที่รองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวภายใต้แผนการพัฒนาเมืองภูเก็ต (Better Phuket Initiatives) เช่น (1) การปรับปรุงภูมิทัศน์ (2) โครงการสร้างคุณค่าและประสบการณ์โดย การท่องเที่ยววิธีชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ (3) การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการท่องเที่ยว และ (4) การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :