กรณี “ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน” ในการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท วาระที่ 2 และวาระ 3 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค. 2563
เริ่มปรากฏผลแห่ง “กรรม” ขึ้น เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูล 4 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อันประกอบด้วย จากพรรคภูมิใจไทย 3 คน คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง, นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายภูมิศิษฐ์ คงมี ส.ส.พัทลุง จากพลังประชารัฐ 1 คน คือ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.
โดยป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายฉลอง นายภูมิศิษฐ์ นางนาที ในความผิด พ.ร.บ.กาป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ที่บัญญัติไว้ว่า
“เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
โดยคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีความผิด “จริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งป.ป.ช.จะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรง
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีมติชี้มูล น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม.กรณีฝากบัตรให้ผู้อื่นเสียบแทนระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 แม้ น.ส.ธนิกานต์ จะอ้างว่าเหตุที่ไม่อยู่ในห้องประชุมเพราะไปร่วมงานเสวนารายการหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง แต่เหตุผลไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้
จึงมีมติชี้มูลในความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 เช่นเดียวกัน โดยป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งจะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรง
ส่วน นางภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ และ นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน ไม่มีพฤติการณ์ เนื่องจากพยานระบุว่า เห็นแค่ถือบัตร 2 ใบแต่ไม่เห็นว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน จึงไม่ผิดทั้งอาญาและไม่ผิดจริยธรรม แต่ผิดเฉพาะข้อบังคับที่ประชุมสภาฯ จึงส่งเรื่องไปยังประธานรัฐสภาดำเนินการ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เปิด โปงเรื่อง “ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน” ออกมาระบุว่า คิดว่า 3-4 เดือน ก็น่าฟ้องได้ เพราะคดีนี้ไม่ซับซ้อนอะไร
ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 ประกอบมาตรา 235 ป.ป.ช.ฟ้องยังศาลฎีกาได้เลย โดยไม่ต้องส่งอัยการ คดีนี้ก็จะเร็วกว่าคดีตามมาตรา 157 ใช้เวลา 1-2 เดือน ก็น่าจะฟ้องได้
เมื่อมีการฟ้องคดีแล้ว ศาลฎีกาอาจสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนที่เคยสั่งมา เช่น กรณี ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
สำหรับโทษความผิดฐานฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องต่อศาลฎีกาว่า ผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากศาลฎีกาประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะ มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
และหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องคำพิพากษาต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 10 ปี ด้วยหรือไม่ก็ได้
และผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ด้วย
“ติดคุก-เว้นวรรคการเมืองตลอดชีวิต” โทษหนักหนาสาหัสเอาการ อยู่ทีเดียว...