อปท.จอง‘วัคซีน’1.9 ล้านโดส ลุ้นบอร์ดโรคติดต่อจังหวัดไฟเขียว

12 มิ.ย. 2564 | 00:00 น.

นับหนึ่งใหม่วัคซีนท้องถิ่น สมาคม อบจ.แจ้งต้องยื่นขอไฟเขียวบอร์ดโรคติดต่อจังหวัดก่อน จองซื้อ “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผย 17 องค์กรเตรียมออร์เดอร์ 1.91 ล้านโดส “รพ.เอกชน” บ่นอุบ วัคซีนโมเดอร์นาไม่คืบ เหตุอภ. ยังไม่สั่งจอง หวั่นไม่ทันต.ค.นี้

หลังจากราชกิจจานุเบกษา ปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เอกชน รพ.เอกชน จัดซื้อวัคซีนได้แล้ว และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศแนวทาง 8 ข้อการบริหารจัดการวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ระยะที่ 1 วางระเบียบขั้นตอนปฎิบัติที่ชัดเจนในการจัดหาวัคซีนแล้วนั้น

นายชาตรี ศรีสันต์ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักงานสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้นายกสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย กำลังเร่งออกหนังสือแจ้งอบจ.ทั่วประเทศ ที่ประสงค์จะจัดหาวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานก่อน ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

 

ยื่นบอร์ดโรคติดต่อจังหวัดเคาะ

เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้ว จึงแจ้งยอดความต้องการและวงเงินงบประมาณมายังสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย เพื่อที่สมาคมฯ โดย
ความร่วมมือกับพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ. ปทุมธานี จะได้รวบรวมข้อมูลคำขอทั้งหมดแจ้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พิจารณาจัดสรรให้ต่อไป พร้อมกันนั้นแต่ละอปท.ก็กลับไปเสนอสภาของตน เพื่อขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมหรือจากงบกลาง แล้วแต่ฐานะทางการคลังของอปท.แต่ละแห่งต่อไป

“เพราะที่อปท.แต่ละแห่งแจ้งความประสงค์จะขอรับจัดสรรไว้นั้น ไม่รู้ว่าจะมากไปหรือน้อยไปในการจะนำไปบริการฉีดให้ประชากรในแต่ละพื้นที่ จึงให้กลับไปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน เพื่อจะได้รู้ภาพรวมการบริหารจัดการวัคซีนของแต่ละจังหวัด แล้วกำหนดให้อปท.ขอรับการจัดสรรได้อย่างเหมาะสม”

 

 

ออร์เดอร์แล้ว 1.91 ล้านโดส

นายชาตรีกล่าวอีกว่า กรณีของปทุมธานีเป็นโมเดลที่ดี โดยอบจ.ปทุมธานี มีการประสานกับอปท.ในพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่อบต. จนถึงเทศบาลทุกระดับ และรับเป็นคนกลางประสานข้อมูลกับทางจังหวัด ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่อย่างทั่วถึงและไม่ซํ้าซ้อน การจะกลับไปขอมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดน่าจะรวดเร็ว เพราะรับรู้ข้อมูลและแผนงานอยู่ก่อนแล้ว

ที่ผ่านมามีอปท.แจ้งขอรับการจัดสรรวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผ่านทางสมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 17 องค์กร รวมจำนวน 1,910,000 โดส แบ่งเป็นอบจ.จังหวัดต่าง 14 แห่ง คือ อบจ.ปทุมธานี 500,000 โดส ลพบุรี 100,000 โดส เชียงราย 100,000 โดส พังงา 40,000 โดส ลำปาง 100,000 โดส สกลนคร 100,000 โดส

สมุทรสงคราม 20,000 โดส สมุทรปราการ 100,000 โดส สมุทรสาคร 200,000 โดส ฉะเชิงเทรา 100,000 โดส ราชบุรี 100,000 โดส นครศรีธรรมราช 100,000 โดส จันทบุรี 100,000 โดส ตรัง 80,000 โดส

มีเทศบาลแจ้งขอรับจัดสรรวัคซีนด้วย 3 แห่ง คือ เทศบาลตำบลบางปู สมุทรปราการ 100,000 โดส เทศบาลนครหาดใหญ่ 50,000 โดส และเทศบาลเมืองท่าช้าง จันทบุรี
20,000 โดส

ด้านนายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ระบุว่า ทางเทศบาลหัวหิน ได้ทำหนังสือ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เพื่อขออนุญาตจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ชิโนฟาร์ม”  จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 5 หมื่นโดส สำหรับนำไปฉีดให้กับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน และแบ่งเบาภาระของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเมืองหัวหิน และเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว สถานประกอบการและประชาชน เนื่องจากหัวหิน เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน

 

ดีเดย์จองซิโนฟาร์ม 14 มิ.ย.

สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” นั้น ล่าสุด ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การจัดสรรวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ระยะที่ 1 สำหรับองค์กรและหน่วยงานนั้น สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2564 โดยคณะกรรมการบริหารวัคซีนตัวเลือก จะตรวจสอบคุณสมบัติและจัดสรรโควต้าให้ เบื้องต้นวัคซีนซิโนฟาร์ม ล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส จะเข้ามาถึงในเดือนมิถุนายนนี้

 

หวั่นนำเข้าโมเดอร์นาไม่ทันต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง กล่าวว่า ความคืบหน้าการฉีดให้บริการวัคซีนทางเลือก“โมเดอร์นา” นั้น ขณะนี้ไม่มั่นใจว่าวัคซีนจะเข้ามาและสามารถฉีดได้ทันเดือนตุลาคมนี้หรือไม่ เพราะจนถึงปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยังไม่ได้ทำคำสั่งซื้ออย่างเป็นทางการไปยังบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้าในประเทศไทยแต่อย่างใด รวมทั้งยังไม่ได้กำหนดราคาแพ็กเกจฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งจะเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศด้วย

ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สรุปราคากลางค่าบริหารฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ราคาเข็มละ 1,900 บาท หรือ 2 เข็มราคา 3,800 บาท รวมค่าบริการฉีดและประกันวัคซีนโควิด-19 ด้วยนั้น จะต้องผ่านความเห็นชอบของอภ.ก่อนจึงจะสามารถกำหนดเป็นราคาค่าบริการจริงได้

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้จองฉีดวัคซีนไปแล้วนั้น อาจจะเข้าข่ายความผิดเรื่องของการโฆษณา ตามพ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และพ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ดังนั้นสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จะจัดทำแบบฟอร์มการขออนุญาตจองฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนนำไปจัดทำเป็นแบบฟอร์มของแต่ละโรงพยาบาลเอง และทำเรื่องยื่นขออนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564