วันที่ 25 มิ.ย. 64 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่ามาตรการ “ยิ่งใช้ ยิ่งได้”ที่เพิ่งประกาศไปไม่นานตั้งเป้าหมายจะมีประชาชน 4 ล้านคนเข้าร่วมและเตรียมวงเงิน 28,000 ล้านรองรับมาตรการนี้ ผลปรากฏว่ามีประชาชนเพียง 400,000 คนเท่านั้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จนกระทรวงการคลังตัดสินใจที่จะคืนเงินกลับให้พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ว่า คำถามคือทำไมโครงการ“ยิ่งใช้ ยิ่งได้”จึงไม่ประสบความสำเร็จ การประเมินผลนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญต่อการเรียนรู้และการปรับปรุงนโยบายให้ดีขึ้นต่อไป ไม่ใช่เป็นเรื่องของการนำข้อผิดพลาดมาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีกัน ถ้าการวิเคราะห์ประเมินผลความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายถูกบิดให้เป็นประเด็นของการต่อสู้ทางการเมือง จะส่งผลให้การพัฒนานโยบายสาธารณะให้ตอบโจทย์ประชาชนและประเทศชาติเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยหลักคิดนี้ จึงขอวิเคราะห์ความไม่สำเร็จของโครงการ“ยิ่งใช้ ยิ่งได้”เชิงประเมินผล ดังนี้
1. ประชาชนกลุ่มฐานรากที่ยากจนไม่มีเงินออมที่เคยพอมีอยู่บ้าง ปัจจุบันหมดแล้วจนถึงขั้นที่ต้องไป กู้เงินนอกระบบเพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่ต่อแล้ว 2. ประชาชนกลุ่มกลางที่ยังพอจะมีเงินออมเหลืออยู่บ้าง ประเมินว่าอนาคตโควิด 19 คงอยู่อีกนานและเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ใหม่ให้ตัวเองยังมองไม่เห็น ดังนั้นเงินออมที่ยังเหลืออยู่ควรจะต้องเก็บไว้ เป็นหลักประกันความมั่นคงสำหรับอนาคตดีกว่า 3. ประชาชนกลุ่มคนที่มีเงินออมมากสามารถจะใช้เงินได้ถ้ามีเหตุผลดีพอ สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการจนถึงอัตราส่วนลด 10-15% ที่รัฐบาลจะคืนเงินให้ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะจ่ายเงินออกจากกระเป๋า
กล่าวให้ชัดเจนคือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นมาตรการทางนโยบายที่ไม่เข้าใจ“สภาพความเป็นจริงของประชาชน”เพราะแรงขับเคลื่อนของนโยบายอยู่ที่“ส่วนลด”ของการใช้เงิน แต่ประชาชนกลับเห็นว่า “ความจำเป็นของการใช้เงิน”เป็นเหตุผลสำคัญกว่า กรณีประชาชนกลุ่มฐานรากและกลุ่มกลางไม่มีเงินเหลือพอที่จะมาใช้จ่ายแล้ว ส่วนประชาชนกลุ่มบนก็ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องใช้เงินทั้งที่ตนมีเงินมากพอที่จะใช้ได้ ประเด็นนี้บอกเราว่า การกำหนดนโยบายจะต้องกำหนดเป้าหมายของประชาชนที่นโยบายต้องการขับเคลื่อนให้ชัดเจน แล้วโฟกัสมาตรการให้ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนกลุ่มเป้าหมายชัดเจนและแรงพอที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย จะตอบสนองนโยบาย
ศ.ดร.กนก ยกตัวอย่างว่า ปัจจุบันประชาชนกลุ่มฐานรากโดยเฉพาะ SME ขนาดเล็ก 1) ขาดเงินทุนหมุนเวียนเพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ให้กู้ รัฐบาลก็กำหนดมาตรการให้ประชาชนกลุ่มฐานรากและ SME ขนาดเล็กสามารถเข้าถึง แหล่งเงินกู้ได้ 2) ขาดความรู้และเทคโนโลยีที่จะปรับกระบวนการธุรกิจให้มีผลิตภาพสูงขึ้นและมีมูลค่ามากขึ้นรัฐบาลก็ควรจะกำหนดกลไกเพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีที่จะเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าสินค้าและบริการ ไปให้ประชาชนกลุ่มฐานรากและ SME ขนาดเล็ก เป็นต้น
แทนที่จะนำงบประมาณหรือเงินกู้ไปแจกเพื่อหวังว่ากำลังซื้อของประเทศจะขยายตัวเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป แนวคิดนี้เป็นเพียงทฤษฎีที่ปฏิบัติไม่ได้ ดังที่เห็นแล้วจากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาลนำงบประมาณส่วนนั้นไปช่วยยกระดับผลิตภาพและมูลค่าสินค้าและบริการของประชาชน กลุ่มฐานราก เพื่อสร้างรายได้ของพวกเขาให้สูงขึ้น และที่สำคัญคือสินค้าและบริการของพวกเขาแข่งขันได้สูงขึ้น เมื่อรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้น กลไกและความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและของประเทศจะเริ่มทำงาน เมื่อนั้นเศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มเดินหน้าได้จริง
กระทรวงการคลังกรุณาออกไปเรียนรู้ปัญหาและชีวิตจริงของประชาชนว่าพวกเขาดำรงชีวิตอย่างไรและปัญหาสำคัญที่สุดของพวกเขาในปัจจุบันคืออะไร และมีสาเหตุมาจากอะไร จากนั้นจึงค่อยนำข้อมูล เชิงประจักษ์นั้นมากำหนดมาตรการ โครงการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและ การทำมาหากินของประชาชน เมื่อนั้นความสำเร็จของโครงการและนโยบายก็จะเกิดขึ้นจริง
มาตรการที่จะช่วยประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศรอบต่อไป หวังว่าจะตอบโจทย์ประชาชนได้ถูกต้อง