ลุ้นเปิดประเทศ 120 วันดัน ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’ ฟื้น สร้างเม็ดเงินคืนระบบเศรษฐกิจ

25 มิ.ย. 2564 | 13:09 น.

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ชี้หากไทยฟื้น ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’ ได้ จะสร้างเม็ดเงินคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ ย้ำแผนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต้าน COVID-19 คือปัจจัยเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ (LALIN) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพภายใต้คอนเซ็ปต์ “บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี” เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐที่ตั้งเป้าสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายในปี 2564 ด้วยการกระจายการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสนั้น และเปิดประเทศใน 120 วัน

หากดำเนินตามแผนดังกล่าวได้ก็จะเป็นผลดีอย่างมากต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย ดังที่ทราบกันดีว่ารายได้หลักของระบบเศรษฐกิจไทยมาจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว หากไทยเดินหน้าฉีดวัคซีนได้มากพอก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติมั่นใจที่จะเดินทางเข้ามา ทั้งมาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถขับเคลื่อนไปได้ คาดว่าแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยับอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ

“เมื่อกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเริ่มดำเนินการได้ กลไกโดยรวมก็จะเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ภาครัฐพยายามวางแผนนโยบายเพื่อเริ่มทำให้กลไกดังกล่าวเดินหน้า ดังจะเห็นได้จากแผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่เริ่มเปิดการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็น New Model ก่อนที่จะเปิดประเทศ โดยจำกัดพื้นที่เฉพาะในแบบโครงการนำร่องพร้อมกำหนดมาตรการการดูแลด้านการระบาดของเชื้อ COVID-19 ตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข ซึ่งคงต้องรอดูผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าว และคงต้องเรียนรู้ในการปรับแผนไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ การที่ล่าสุดรัฐได้ตั้งเป้าเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วันนั้น นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะฟื้นคืนเศรษฐกิจในองค์รวมเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับภาพรวมการฉีดวัคซีนและภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศด้วย” นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กล่าวแสดงมุมมองต่อแผนการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจของรัฐ

ด้านการคาดการณ์ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยหลังแผนการฟื้นฟูประเทศนั้น นายชูรัชฏ์ ชาครกุล แสดงความเห็นว่า “หากแผนฟื้นคืนธุรกิจท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้า การจ้างงานในภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะเริ่มกลับมาเปิดบริการได้ทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบและเม็ดเงินดังกล่าวก็จะส่งผลทางบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อลูกค้ากลุ่มที่อยู่ในภาคธุรกิจบริการเกิดการฟื้นตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็จะกลับมา ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 มีอัตราการเติบโตโดยรวมดีกว่าภาพรวมในครึ่งปีแรก”

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเขตโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้นก็จะฟื้นคืนเช่นกันหากไทยสามารถเปิดประเทศได้ตามเป้า “อุตสาหกรรมส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวคือหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC หากเศรษฐกิจโลกโดยรวมกลับมาฟื้นตัว ก็จะทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวได้ด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลทางเศรษฐกิจพบว่าในหลายๆ ประเทศเริ่มมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับภาคการผลิตที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้ก็จะเริ่มมีการสั่งผลิตเพิ่มเนื่องจากสต็อกสินค้าที่มีอยู่เริ่มลดลง เห็นได้จากตัวเลขส่งออก 5 เดือนแรกมีการเติบโต 10.7 % ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจในโซน EEC เริ่มเดินหน้าได้มากขึ้น

และจะเป็นโมเดลเดียวกันกับภาพรวมประเทศที่เมื่อธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวที่ถือเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้สู่ประเทศฟื้น ก็จะเกิดลูกโซ่การฟื้นตัวมาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน EEC เช่นกัน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: