มทร.ธัญบุรี ลงนามความร่วมมือ โรงงานเภสัชอุตสาหกรรมเจเอสพี เดินหน้าวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ผนึกกำลังคัดสายพันธุ์ เพาะปลูก วิจัย และผลิตเป็นยารักษาโรค หวังเพิ่มทางเลือกผู้ป่วย คาดใช้เวลาวิจัยร่วมกัน 3 ปี เพื่อให้ได้ยาสมุนไพรที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย
ดร.วิสิทธิ์ ล้อธรรมจักร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า ตามที่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องกัญชา ให้สามารถดำเนินการวิจัยได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมี 2 หน่วยงาน ได้แก่คณะเทคโนโลยีการเกษตร และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ควรมีงานวิจัยและการวิจัยรองรับ ตอบสนองต่อสังคมได้ มหาวิทยาลัยได้ทำการลงนามความร่วมมือ "การศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์" โดยเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยรับผิดชอบในส่วนของดำเนินโครงการวิจัย 1. การเพาะปลูก การเพาะปลูกในพื้นที่ปิด เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ โดยในกัญชามีสารออกฤทธิ์สำคัญ 2 ชนิด ที่ ได้แก่ สาร THC ที่สูง มีฤทธิ์มึนเมา และสาร CBD สรรพคุณทางยา ที่สรรพคุณทางยาที่แตกต่างกัน แต่มีฤทธิ์ทางการรักษา นอกจากนี้ยังมีปรับปรุงกระบวนการปลูก ให้ได้ผลผลิตที่สูงที่สุด สะอาดที่สุด ด้วยกัญชาที่ปลูก เพื่อทำสารตั้งต้นในการทำยา ต้องปลอดจากโลหะหนัก สารยาฆ่าแมลง 2. การสกัด ทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาจากตำรับยาที่มีส่วนผสมของพืชกัญชา 3.ทดสอบประสิทธิผลของตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชาในคน การลงนามครั้งนี้ยังก่อให้เกิดความร่วมมือกับวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยราชมงคลธัญบุรีเรื่องการทำยาตำรับ ซึ่งจะคัดเลือก 5 ตำรับยาสมุนไพรสำหรับการทำการทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรมและ ทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผล ในเซลล์ และ สัตว์ทดลอง
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือการศึกษาและวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการต้นแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย ร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์ การทดลองเพาะปลูกเพื่อคัดสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย บริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือในการให้ใช้พื้นที่ของ โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี เป็นแปลงทดลองปลูกกัญชา ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับการพัฒนาสมุนไพร และกัญชา เพื่อทำยาแผนโบราณ 60 ไร่ โดยอาศัยองค์ความรู้จาก ต้นแบบของคณะเกษตร และ วิทยาลัยแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนการผลิตเป็นยาสมุนไพร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เกิดการร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชนที่นำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาผนึกกำลังเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการแพทย์ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เนื่องจากยาจากสมุนไพรถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีของประชาชน เพราะหากในอนาคตมีการผลิตและวิจัยสกัดออกมาจนไม่มีผลข้างเคียงจะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลงเนื่องจากเป็นยาที่ผลิตใช้เองโดยคนไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทยขยายตลาดการส่งออกเพื่อหารายได้เข้าประเทศ