ฮอตสุดๆสำหรับ “Royal Orchid Dining Experience” ภัตตาคารในรูปแบบ “ Inflight service Pop-Up Dining Experience” แห่งแรกของโลก ณ สำนักงานใหญ่ ของ “การบินไทย” ที่เพิ่งเปิดให้บริการลูกค้าอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายน2563
จากห้องอาหารของพนักงาน ที่ถูกเนรมิตให้เป็นภัตตาคารรูปแบบใหม่แห่งแรกของโลก ซึ่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน ในการคลีเอท บรรยากาศให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังนั่งทานอาหารอยู่บนเครื่องบินของการบินไทย สมกับธีม “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้”
นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากการบินไทยต้องหยุดบินชั่วคราวจากผลกระทบของโควิด-19 เราก็มองว่าผู้โดยสารที่ไม่ได้บิน ก็น่าจะนึกถึงอาหารและการบริการของการบินไทย เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้โดยสารเข้าถึงและไม่ลืมการบินไทย และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัทให้ช่วงนี้ได้ด้วย เราจึงคิดถึงธีม “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้”
ช่วงแรกเมื่อเดือนก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา เราก็เพียงเปิดขายอาหารขึ้นเครื่องบินจากเมนูนานาชาติ ขายอยู่ชั้นล่าง มีที่นั่งจำกัด ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้เราเริ่มวางแผนอยากทำร้านอาหารแบบถาวร ให้ลูกค้ามีพื้นที่นั่งสบายๆ
พนักงานทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายช่าง นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น พนักงานจิตอาสาจากฝ่ายต่างๆ จึงร่วมกันปรับปรุงห้องอาหารของพนักงาน รังสรรค์เป็น “Royal Orchid Dining Experience” เวลคัม ออนบอร์ด สู่ เที่ยวบิน TG 8922
จุดเด่นของภัตตาคารแห่งนี้ นอกจากเมนูอาหารหลากหลาย จากทีมเชฟนานาชาติของฝ่ายครัวการบินไทย ที่อร่อยกว่าทานบนเครื่องบินแน่นอน เพราะเป็นอาหารที่ปรุงสด
ยังมีไฮไลต์ ของการตกแต่ง ซึ่งได้นำ วัสดุ อุปกรณ์ และอะไหล่ของเครื่องบิน ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว มาขัดสีใหม่ ทำใหม่ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งสถานที่ สร้างความรู้สึกเหมือนลูกค้ากำลังนั่งอยู่บนเครื่องบิน
การลงทุน “Royal Orchid Dining Experience” ใช้งบลงทุนจริงๆแค่หลักหมื่นบาทเท่านั้น แต่มูลค่าของอะไหล่เครื่องบิน ที่หมดอายุการใช้งาน แล้วนำมา รีบิวท์ ใหม่ เป็นเฟอร์นิเจอร์ หากตีราคาอะไหล่ชนิดใหม่เอี่ยมถอดด้าม รับรองต้องร้องว้าว
เริ่มจากก้าวแรก ที่มีการนำ “บันไดสำหรับขึ้นเครื่องบิน” มาทำเป็นทางขึ้นไปภัตตาคาร
การนำ “Spinner Cone” ซึ่งเป็นแกนกลางเครื่องยนต์รูปลักษณ์เหมือนดุมใหญ่ที่ติดอยู่หน้าเครื่องยนต์ เพ้นท์ตัวเลข ๑ มาเป็นจุดเช็กพ้อยท์ ถ่ายรูปหน้าทางเข้าภัตตาคาร ซึ่ง สปินเนอร์ โคน มีหน้าที่หลักป้องกันเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน ไปโดนใบพัดในตัวเครื่องยนต์
การนำเก้าอี้นั่งโดยสารของชั้นเฟิสต์คลาส ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด ที่เป็นของเก่ามาหุ้มเบาะใหม่ มาตกแต่งสถานที่ การนำชิ้นส่วนจากเครื่องยนต์จำนวน 2 ชิ้น ดีไซน์มาเป็นโต๊ะรับประทานอาหาร ซึ่งมีทั้งหมด 40-50 ชิ้น สทนราคาอะไหล่หากเป็นของใหม่ก็อยู่ที่ 20 กว่าล้านบาทต่อชิ้น
การนำยางล้อเครื่องบิน มาทำเป็นโต๊ะนั่งเล่นชิลล์
รวมไปถึงการนำโมเดลเครื่องบินในฝูงบินของการบินไทย ไม่ว่าจะเป็นแอร์บัสเอ 380 ,โบอิ้ง787 ดรีมไลเนอร์, โบอิ้ง747-400 มาจัดแสดง
ทั้งยังมีอะไหล่เครื่องยนต์ของจริงที่ปลดระวางแล้ว อีกหลายอย่างมาจัดแสดง อาทิ ใบพัดในเครื่องยนต์ หรือ เบลด ที่ในแต่ละเครื่องยนต์จะมีเบลดทั้งหมดกว่า 40 ใบ แต่ละใบมีมูลค่าร่วม 2 ล้านบาท
ทั้งที่เด็ดสุดๆคือในอะไหล่ต่างๆที่ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ จะมีการติด คิวอาร์โค้ด ไว้ เมื่อสแกนบุ๊ป ในมือถือของคุณจะขึ้นยูทูป
โดยจะแสดงคลิปสั้นๆให้เห็นชัดเจนว่าอะไหล่นี้มาจากเครื่องบินรุ่นใด อยู่ตรงไหนของเครื่องบิน และยังเห็นถึงการนำมาดีไซน์จนกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย และลูกค้ายังสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดรับ e-Boarding Pass บนโทรศัพท์มือถือ กลับไปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย
อินโนเวทีฟแบบนี้ไม่เพียงสร้างจุดขายใหม่ แต่ลูกค้ายังเข้าถึงได้ เพราะราคาอาหารเริ่มต้นที่ 69 บาท ไปจนถึงเซ็ตเมนูแบบไฟน์ไดนิ่งจานหรู กันเลยทีเดียว
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,609 วันที่ 13-16กันยายน พ.ศ. 2563
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
การบินไทย เปิดบริการ Royal Orchid Dining อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้
ภัตตาคาร “การบินไทย” สีลม สุดฮ้อต “ปาท่องโก๋” กับ "สังขยา"เจ้าจำปี