ส่งออกทุเรียนแข่งเดือด “มาเลย์-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์” เบิ้ลเครื่องรุมแย่งตลาดไทยในจีน เสือเหลืองรุกหนักขนพันธุ์มูซังคิงเสิร์ฟถึงที่ เช่าเหมาลำเพิ่มจากสัปดาห์ละ 2-3 ลำ เพิ่มเป็นวันละ 1 ลำ ขณะเวียดนาม-ฟิลิปปินส์อ้อนจีนเร่งไฟเขียวนำเข้าทุเรียนสด
การส่งออกทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ของไทยมีตลาดใหญ่ที่จีน นับวันยิ่งมีคู่แข่งขันมากขึ้น จากที่ผู้บริโภคชาวจีนที่มีขนาดใหญ่ถึง 1,400 ล้านคนได้ให้ความนิยมบริโภคทุเรียน
เพิ่มขึ้น ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ที่มีผลผลิตทุเรียนในประเทศหันมารุกตลาดส่งออกอย่างจริงจังมากขึ้น จากเป็นสินค้าที่ขายได้ราคาดี และจะนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศอีกมหาศาล
3 เพื่อนบ้านแข่งรุกตลาดจีน
รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองเซียะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เผยโดยอ้างแหล่งที่มาของข้อมูลจาก www.guojiguoshu.com ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า จากที่จีนได้อนุมัติให้นำเข้าทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกจากมาเลเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งต่อมาในเดือนมิถุนายน 2562 มาเลเซียได้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งแบบมีเปลือกทั้งลูกพันธุ์มูซังคิง(Musang King) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของมาเลเซียบุกตลาดจีนเป็นครั้งแรก(จากเดิมให้นำเข้าได้เฉพาะผลิตภัณฑ์ทุเรียนแปรรูปแช่แข็งและเนื้อทุเรียนแช่แข็ง) ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม 2562 มาเลเซียได้เช่าเหมาลำเครื่องบินเป็นครั้งแรกเพื่อส่งทุเรียนแช่แข็งแบบทั้งลูกสู่ตลาดจีน โดยเริ่มจากเช่าเหมาลำสัปดาห์ละ 2-3 ลำ จะขยายเป็นวันละ 1 ลำในเร็วๆ นี้
ส่วนทุเรียนเวียดนาม แม้ยังไม่ได้รับอนุญาตจากจีนให้ส่งออกทุเรียนสดสู่ตลาดจีน แต่เวียดนามหวังว่าจะได้รับอนุมัติจากจีนในเร็วๆ นี้ ที่ผ่านมาทุเรียนสดเวียดนามเข้าสู่ตลาดจีนผ่านด่านผ่อนปรนชายแดนเวียดนาม-จีน แต่ปีนี้ศุลกากรจีนเข้มงวดและเรียกร้องให้เวียดนามส่งออกผลไม้ผ่านช่องทางการค้าอย่างเป็นทางการ(หรือด่านสากล)เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เวียดนามจึงเร่งรัดการเจรจาให้จีนอนุมัตินำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม
ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ต้องการส่งออกทุเรียนเข้าตลาดจีนเช่นกัน(จากปัจจุบันบริโภคในประเทศเป็น หลัก) ซึ่งเวลานี้แม้ว่าจะยังไม่ได้รับ อนุมัติจากทางการจีน แต่ปัจจุบันเมืองดาเวา (Davao) แหล่งปลูกทุเรียนหลักของฟิลิปปินส์เมื่อพบว่าตลาดจีนมีความต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้น เมืองดาเวาจึงได้เพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนอีก 500 เฮกเตอร์ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าทุเรียนในจีนได้ติดต่อกับผู้ผลิตทุเรียนในท้องถิ่นของฟิลิปปินส์เพื่อจองทุเรียนสดไว้ปริมาณมาก ฟิลิปปินส์จึงคาดหวัง ว่าจะมีการตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างฟิลิปปินส์-จีนในเรื่องการส่งออกผลไม้เช่นทุเรียนไปยังจีนใน เร็วๆ นี้ โดยจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติฟิลิปปินส์ระบุในปี 2561 ฟิลิปปินส์ ผลิตทุเรียนได้ 59,027 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14% และผลผลิต คาดจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จี้ไทยเร่งปรับตัวด่วน
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้องจับตามาเลเซียที่คาดจะส่งออกทุเรียนไปจีนโตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้และในอนาคตจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของทุเรียนไทยทั้งในตลาดจีนและตลาดโลก จากรัฐบาลได้เอาจริงเอาจังในการเร่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทานทุเรียนอย่างเป็นระบบ โดยนำความต้องการของตลาดมาเป็นตัวตั้ง มีการขึ้นทะเบียนสวนทุเรียนทั่วประเทศ การปรับปรุงการทำสวนทุเรียนให้ได้มาตรฐานการทำการเกษตรที่ดี(GAP) การอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจจีนให้ไปลงทุนในการทำสวนขนาดใหญ่และลงทุนในธุรกิจส่งออกทุเรียน และการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อการขนส่ง มีป้ายโฆษณาทุเรียนที่สนามบิน เป็นต้น
“ไทยต้องเร่งเอาจริงในทุกเรื่องข้างต้นไม่เช่นนั้นอีก 5 ปี 10 ปี การส่งออกทุเรียนของมาเลเซียจะก้าวตามทันไทยได้ โดยไม่ต้องไปโทษล้งจีนว่าอาจมาทำให้ตลาดทุเรียนไทยเสียหาย เพราะอีกด้านหนึ่งเขาก็มาช่วยให้ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนได้ง่ายขึ้น จากมีคอนเน็กชันกับตลาด จากปัจจุบันการบริโภคทุเรียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในแถบเอเชียสัดส่วน 66% (ไปจีน 60%) ที่เหลือส่งไปตลาดอาเซียนราว 33% และไปยุโรปและอเมริกา 1-2%”
เล็งตะวันออกลาง-อินเดียตลาดใหม่
ด้านนายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุดแห่งประเทศไทย ยอมรับว่ามีความกังวลต่อการรุกตลาดทุเรียนในจีนของมาเลเซีย รวมถึงการที่จีนเริ่มปลูกทุเรียนได้เองที่มณฑลไหหลำ อาจทำให้นำเข้าทุเรียนจากไทยลดลงในอนาคต และส่งผลถึงราคาทุเรียนในประเทศ “ในอนาคตเราต้องลดการพึ่งพาตลาดจีน ตลาดที่มีศักยภาพใหม่ๆ ได้แก่ ตะวันออกกลางและอินเดีย ที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก ในเดือนพฤศจิกายนนี้ทางสมาคมจะนำผลไม้ 3 ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไยไปเปิดตลาดอินเดีย”
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ช่วง 7 เดือนแรกปี 2562 ไทยส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 3.09 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียว กันของปีก่อน 50% ในจำนวนนี้ส่งออกไปจีน 1.66 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 82% ส่วนข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุเนื้อที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปลูกทด แทนยางพาราที่ราคาตกตํ่าจากในปี 2560 มีเนื้อที่ปลูกทุเรียนให้ผล ผลิตทั่วประเทศ 6.21 แสนไร่ให้ผลิต 6.49 แสนตัน ในปี 2562 คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.24 แสนไร่ และมีผลผลิตกว่า 9.77 แสนตัน
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562