นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ได้เดินทางพร้อมด้วยนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย และผู้แทนมกอช. เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อหารือและสอบถามข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกผลไม้สดผ่านเวียดนามไปยังจีนกับนาย Nguyen Tuan Anh รองอธิบดีกรมศุลกากรเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปยังจีนส่วนใหญ่ใช้เส้นทางบกผ่านประเทศเวียดนาม
“ฝ่ายรองอธิบดีกรมศุลกากรเวียดนามได้อธิบายข้อกำหนดเกี่ยวกับการขนส่งผลไม้สดผ่านแดนเวียดนามไปยังจีนจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกักพืชของกระทรวงเกษตรเวียดนามร่วมตรวจสอบด้วย โดยยืนยันว่าการตรวจสอบและควบคุมการนำผ่านสินค้าของศุลกากรเวียดนามสอดคล้องกับพิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนตามมาตรฐานสากล โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวมาแจ้งผู้ประกอบการไทยเพื่อเน้นย้ำปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดการนำผ่านสินค้าของเวียดนาม เพื่อเตรียมการสำหรับการส่งออกผลไม้ในฤดูกาลที่จะถึงในปี 2563 นี้ต่อไป”
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ และ นางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ในประเด็นการค้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ไทยที่ส่งออกมายังเวียดนามและจีน และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยในต่างประเทศและกระทรวงเกษตรฯ ในการส่งเสริมศักยภาพให้สินค้าไทยมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้นในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโต และต้องการสินค้าจากไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ยินดีที่จะร่วมมือทั้งในด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนบุคลากร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการหารือกับหัวหน้าด่านศุลกากรจาลอ ซึ่งเป็นด่านนำเข้าสินค้าของไทยทางบกผ่านจากประเทศลาวเข้าสู่เวียดนามเพื่อขายในเวียดนามหรือส่งออกไปยังจีนทำให้ทราบว่า ตั้งแต่ ปี 2561-2562 มีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยการตรวจสอบสินค้าเกษตรจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็สามารถส่งสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าในเวียดนามได้ ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามยังไม่พบปัญหาการนำเข้าสินค้าผลไม้สดจากไทย
อย่างไรก็ตาม เวียดนามขอให้ผู้ส่งออกแสดงข้อมูลให้ถูกต้องในเอกสารประกอบการส่งออก เช่นการสำแดงชนิดบรรจุภัณฑ์ในเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยในปี 2562 เวียดนามมีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยเช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด ขนุน ประมาณ 550,000 ตัน สำหรับการนำผ่านผลไม้จากไทยไปจีนในปี 2562 มีจำนวนประมาณ 470,000 ตัน
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการปลูกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดด่งหนาย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนทางตอนใต้ของเวียดนาม โดยในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาเวียดนามได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตและขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีนโยบายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการคัดบรรจุ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกในอนาคต ซึ่งหากพิจารณาจากเส้นทางการขนส่งไปจีนจะเห็นว่ามีความได้เปรียบโดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งทางบกไปยังเมืองที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าสำคัญในมณฑลกวางซีของจีน
“ทุเรียนพันธุ์ที่เวียดนามปลูกมีลักษณะคล้ายกับพันธุ์หมอนทองของไทย และถึงแม้ว่าปัจจุบันเวียดนามจะยังไม่สามารถส่งทุเรียนผลสดไปจีนได้ แต่ขณะนี้อยู่ในกระบวนการขอเปิดตลาดกับจีน หากเวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนผลสดไปจีนได้ จะมีข้อได้เปรียบทั้งต้นทุนการผลิต การขนส่ง และราคา จึงเป็นสัญญาณเตือนมายังไทยในฐานะผู้ผลิตทุเรียนผลสดส่งออกไปจีนได้เพียงรายเดียว
ต้องรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดโดยการควบคุมการผลิตตามมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออกให้ได้ทุเรียนคุณภาพดี ไม่ตัดทุเรียนอ่อน และควบคุมคุณภาพการคัดในโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้พิธีสารระหว่างไทย-จีน รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอย่างเคร่งครัด เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อทุเรียนไทย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว