ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 รวมถึงปัญหาสงครามการค้าจีน-อเมริกา ภัยแล้ง และเงินบาทแข็งค่า เป็นผลกระทบที่ลุกลามมาถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง สะเทือนเอสเอ็มอี ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยกระทบทางตรงคือ เครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุดของภาค เอสเอ็มอี คือ ท่องเที่ยว ที่มี supply chain ต่อเนื่องไปยังธุรกิจรายย่อยทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ร้านอาหาร สปา ที่พักขนาดเล็ก และบริการขนส่ง นักท่องเที่ยวที่บริโภคสินค้าในประเทศไทยก็หายไปด้วย
ส่วนผลกระทบทางอ้อมเกิดจากที่ผู้บริโภคระมัดระวัง ลดการจับจ่ายใช้สอยและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ไม่ออกเดินทางไปห้างสรรพสินค้า ย่านการค้า แต่ไปร้านค้าขนาดเล็กและนิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แทน
ล่าสุดสสว.ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากไวรัสโคโรนามี 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ไล่ตั้งแต่ 1.ภาคบริการซึ่งมีสัดส่วน 44% ใน GDP ของเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหนักที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่พัก หรือ การขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากประชาชนขาดความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจและไม่ลงทุนเพิ่ม
2.ภาคการค้าปลีก ซึ่งมีสัดส่วน 31.4 %ของ GDP ของเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหนักเป็นอันดับสองรองลงมา 3.ภาคการผลิต ซึ่งคิดเป็น 24.6 %ของ GDPเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากนี้จากการสำรวจของ สสว. ยังพบอีกว่า ภูมิภาคที่รับรู้ผลกระทบของโควิด-19 สูงสุด คือ ภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว เนื่องจากมีธุรกิจท่องเที่ยว และการผลิตเพื่อส่งออกหนาแน่นที่สุด
ส่วนภูมิภาคที่รับรู้ผลกระทบของโควิด-19 น้อยที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนธุรกิจท่องเที่ยวน้อยกว่าภาคอื่น และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนไปเที่ยวน้อยกว่า
นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอี โดยพบว่า การส่งออกและนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าของเอสเอ็มอีไทย ยังพึ่งพิงแค่ 3 ประเทศหลัก คือ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวได้ก่อน การส่งออกของไทยก็จะฟื้นตัวได้ก่อนเช่นกัน