จากกรณีเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมานายชัชวาลย์ มณีทัพ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทยได้ส่งหนังสือถึงนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด เรื่องขอปรับลดการรับซื้อน้ำมดิบต่ำกว่าปริมาณจัดทำบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยู เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างมากส่งผลต่ออัตราการบริโภคสินค้าที่ลดลง
อีกทั้งการหยุดดำเนินกิจการของธุรกิจต่างๆ ในช่วงวิกฤตินี้ ทาให้ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก และแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่แหลือจะหดตัวลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับนโยบายการป้องกันระบาดของไวรัส ในระหว่างนี้ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับภาคอุตสาหกรรม มีดังนี้
1.การกำหนดเวลาเปิด-ปิดห้างร้าน และร้านสะดวกซื้อมีผลทำให้ยอดการสั่งสินค้าประเภทพาสเจอไรซ์ ลดลงทันที 40 – 45% 2. ผลจากการกักตุนสินค้าของประชาชนเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดจำหน่ายของสินค้าประเภท ยูเอชที มีผลกระทบตามมา คือยอดขายลดลง 20 – 30% ในสัปดาห์นี้ หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ไปอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าผลกระทบจะรุนแรงมากขึ้นนับจากกลางเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป
3.ด้านการขนส่งสินค้าในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งประกาศด้านมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวหรือในพื้นที่ต่อเนื่องได้
4. ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งประกาศ ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดของแต่ละพื้นที่จากการประชุมคณะกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย ในวันที่ 1 เมษยน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการรวบรวมข้อมูลยอดจำหน่ายของแต่ละบริษัท ซึ่งปัจจุบันพบว่า ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการส่งออกลดลงเป็นจำนวนมาก
โดยยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดลดลง 35-50% เปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ประกอบการสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทยมีความจำเป็นที่ต้องลดกำลังการผลิตลง อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระสต๊อกสินค้าที่เกิดขึ้นจากแผนการผลิตปกติ อันเนื่องจากมีสินค้ามากกว่า 30-40% ไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงขณะนี้
จากสถานการณ์ต่างๆ ข้างต้นที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถรับซื้อน้ำนมดิบได้ตามปริมาณที่จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) จึงขอความอนุเคราะห์ในการลดปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบลงประมาณ 30% ของปริมาณที่จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกในแต่ละรายไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ต่างๆ จะไม่เลวร้ายไปกว่านี้ หากสถานการณ์ดีขึ้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกยินดีกลับมารับซื้อน้ำนมดิบตามปริมาณที่จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดทำบันทึกข้อตกลงทุกประการ
ด้านนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีปัญหาดังกล่าวนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีประชุมด่วนเพื่อเรียกหารือในวันที่ 8 เมษายนนี้ โดยทางชุมนุมฯ เห็นว่าปัญหาน้ำนมดิบล้นที่เกิดขึ้นนั้นได้เสนอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำหนังสือถึงรัฐบาล ให้ชะลอการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมแปรรูป และให้ส่งเสริมการนำน้ำนมดิบในประเทศเข้าไปใช้ทดแทน และวางกรอบกฎเกณฑ์ระยะกลาง-ยาว ในการให้เกิดการนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น
รวมทั้งส่งเสริมเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร ทดแทนการดื่มในรูปนมสดอย่างเดียว เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ หรือแม้แต่นมโรงเรียนก็ให้เด็กนักเรียนมีโอกาสรับประทานผลิตภัณฑ์นมแปรรูปอื่นๆได้ที่มีมูลค่าใกล้เคียงกันกับนมถุง จะทำให้ข้อจำกัดการขนส่ง การเก็บรักษาลดลง แต่ผู้เกี่ยวข้องต้องกล้าคิดใหม่ ทำใหม่และวางกรอบให้เป็นประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงโคนมไทย ช่วยเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ผลักให้เป็นนโยบายใหม่ที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือจากภัยโควิด ครั้งนี้
สอดคล้องด้านนายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ กล่าวว่า การปรับลดรับซื้อน้ำนมดิบจะส่งผลทำให้เกษตรกรเดือดร้อนไม่เห็นด้วย แต่จะต้องมีมาตรการหาทางออกร่วมกันทุกภาคส่วน ประกอบด้วย เกษตรกร ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ผู้ประกอบการแปรรูป และรัฐ จะต้องมาร่วมแก้ปัญหา และต้องสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันว่าสภาวะเกิดอะไรขึ้น วันนี้สภาวะวิกฤติเกิดจากโรคระบาด มีผลกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ จะอยู่อย่างไรเพื่อรักษาชีวิตบางครั้งก็ต้องตัดอวัยวะที่ไม่จำเป็นเพื่อรักษาชีวิตไว้เพราะถ้าเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆ วันนี้เดือดร้อนแสนสาหัส ขาดรายได้ แต่วันนี้อาชีพโคนมยังอยู่สบาย ยังไม่มีอะไรที่จะส่งสัญญาณว่าเกษตรกรโคนมจะเดือดร้อน หรืออาจจะไปอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกภาระอยู่ ดังนั้นถึงเวลาที่จะคุยกันทั้งระบบ
“เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีอาชีพโคนมเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ว่าได้ ดังนั้นหากทุกคนเข้าใจในสถานการณ์แล้วจะแก้ปัญหาได้ เพราะทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมให้เดินหน้า เพราะถ้ารับตามเอ็มโอยูผู้ประกอบการขายไม่ได้ วันนี้เกษตรกรต้องปรับลดเอ็มโอยูลงมาไปจัดการฟาร์มโคนม โดยใช้วิธีพักการรีดเพื่อให้ปริมาณน้ำนมดิบต้นน้ำลดลง ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน ควรถอยคนละก้าวเพื่อแก้ปัญหา”
ขณะที่นายชนะศักดิ์ จุมพลอานันท์ นายกสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมนํ้านมดิบ กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องความเดือดร้อนของอุตสาหกรรมนม ผู้รวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ มีอะไรจะช่วยเหลือกันได้ คิดว่าในส่วนของภาครัฐน่าจะข่วยเพิ่มวันซื้อน้ำนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากปกติซื้อแค่วันจันทร์-วันศุกร์ ก็เพิ่มอีก 2 วัน
ก็คือ วันเสาร์และวันอาทิตย์ก็มองว่าจากเพิ่มอีก 2 วัน อย่างน้อยรับน้ำนมดิบไม่ได้ทั้งหมดแค่ช่วยบรรเทา ก็เป็นการดีดังนั้นภาครัฐจะต้องช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณให้เพิ่มเติมในกรณีภัยพิบัติในครั้งนี้ (ปัจจุบันงบประมาณในโครงการนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี)