"อินเตอร์ เอ็กซ์เพรส" ยกระดับขนส่งยา-เวชภัณฑ์รับไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

15 พ.ย. 2567 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2567 | 10:55 น.

"อินเตอร์ เอ็กซ์เพรส" ยกระดับขนส่งยา-เวชภัณฑ์รับไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ชี้เป็นเหตุให้มีความต้องการในการใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพและเลือกยาทั้งรักษาโรค และเป็นวิตามินเสริม 

บริษัท อินเตอร์ เอ็กซ์เพรส โลจิสติกส์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับขนส่งยาและเวชภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันความต้องการยาและเวชภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น 

ทั้งนี้ จึงส่งผลต่อสังคมไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เป็นเหตุให้มีความต้องการในการใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ผู้คนให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาทั้งในเชิงรักษาโรค และยาที่เป็นวิตามินเสริม 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยการเติบโตเหล่านี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาโดยตรง เนื่องจากมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุขจึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อระเบียบบังคับใช้ที่เข้มงวดผ่านมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่าง Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา 

"อินเตอร์ เอ็กซ์เพรส" ยกระดับขนส่งยา-เวชภัณฑ์รับไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

ภายใต้มาตรฐาน GDP (Good Distribution Practice) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ไปจนถึงผู้ที่กระจายสินค้า กระบวนการขนส่งยาและเวชภัณฑ์จึงต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงสาธารณสุขด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งไม่สามารถส่งผ่านการขนส่งทั่วไปได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทจึงได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว ภายใต้มาตรฐานบริหารงานคุณภาพระดับสากล (ISO 9001:2015) และมาตรฐาน GDP (Good Distribution Practice) ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมุ่งเน้นคุณภาพในการขนส่งทุกภาคส่วน ประกอบด้วย  

พนักงานผู้ให้บริการ ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับการอบรมความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการสินค้าอย่างถูกต้องก่อนการปฏิบัติงานจริง ,สถานที่และอุปกรณ์ โดยมีการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานที่จัดเก็บยา รถกระจายสินค้า รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมอุณหภูมิภายในรถขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และมีการสอบเทียบประสิทธิภาพของอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าสถานที่และอุปกรณ์ พร้อมสำหรับการจัดเก็บและการขนส่งผลิตภัณฑ์ยา 

และระบบและคุณภาพ โดยมีการจัดทำระบบที่ผสมผสานซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับการจัดเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินรถและอุณหภูมิระหว่างการขนส่ง ซึ่งทุกขั้นตอนมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยฝ่าย QA (Quality Assurance) และ QC (Quality Control) เพื่อตรวจสอบการทำงานภายในและบุคลากร รวมถึงการทวนสอบอุปกรณ์ อย่างเคร่งครัด