นับจากที่จีนเริ่มประสบปัญหาการระบาดของ โควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2562 และต่อเนื่องมาถึงปี 2563 พบความผิดปกติของการผลิตเหล็กของจีน โดยระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ปี 2563 ผู้ผลิตเหล็กจีนรายงานปริมาณการผลิตเหล็ก (Crude steel) 154.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และเป็นระดับการผลิตที่ขยายตัวจากระดับการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ซึ่งจีนอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงที่สุด กลับมีการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น 5.33% แต่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กในประเทศจีน หดตัวรุนแรงในช่วงระหว่าง -20% ถึง -45%
นายกรกฏ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่านอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า สต๊อกสินค้าเหล็กรวมทุกประเภทของประเทศจีนทั้งสินค้าเหล็กกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าเหล็กสำเร็จรูปในสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขึ้นไปแตะระดับ 100 ล้านตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 203% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 โดยสต๊อกสินค้าเหล็กที่ค้างในระบบเศรษฐกิจของจีน 100 ล้านตันเป็นปริมาณที่มากกว่าความต้องการใช้เหล็กของทั้งภูมิภาคอาเซียนตลอดทั้งปีที่มีปริมาณ 80 ล้านตัน จึงเป็นความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เนื่องจากเป็นประเทศเป้าหมายลำดับต้นๆที่จีนจะระบายเหล็กชนิดต่างๆออกมาตีตลาดในราคาถูกแบบในช่วงที่ผ่านมาก็จะยิ่งซ้ำรอยเดิมหนักขึ้นไปอีก
กรกฏ ผดุงจิตต์