นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ดำเนินการปรับลดประมาณการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ (MPI) ปี 63 ทั้งปีติดลบ 6-7% จากเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 2-3% โดยถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนีเอ็มพีไอเมื่อเดือนมกราคม 43 และปรับลดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.5-6.5% จากเดิมคาดขยายตัว 1.5-2.5% เนื่องจากผลกระทบจากต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ออกไปเป็นวงกว้างและยังควบคุมไม่ได้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศเริ่มผ่อนคลายในทิศทางที่ดีขึ้น
“สศอ. มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจในประเทศน่าจะกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ จากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังต้องประเมินเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ด้วย ซึ่งอาจจะยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี ดังนั้น จึงต้องรอประเมินสถานการณ์ของต่างประเทศอีกครั้ง คาดว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะชัดเจนมากขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยอีกแค่ไหน จากปัจจุบันสัดส่วนการผลิตของไทยมีการจำหน่ายในประเทศและส่งออกประมาณ 50 ต่อ 50 ซึ่งหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติก็มั่นใจว่าจะสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้”
สำหรับดัชนี MPI เดือนมีนาคม 63 นั้น หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.25% โดยได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและภัยแล้ง ส่งผลให้ MPI ไตรมาสแรกปี 63 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.63% อย่างไรก็ตามการจำหน่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.49% โดยผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรม อาทิ อาหารแปรรูป ได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยที่ MPI เดือนมีนาคม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ 1.87% อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 67.22%
ขณะที่ MPI ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 62 5.22% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Hard disk drive ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังทั่วโลกใช้นโยบาย work from home และอุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจึงมีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง โดยมีดัชนีผลผลิตหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 68.93% ทั้งนี้ มีความต้องการอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกอาหารเดือนมีนาคมขยายตัว 0.8%
นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อ MPI เดือนมีนาคม63 ได้แก่ น้ำตาลจากภาวะภัยแล้ง รถยนต์และเครื่องยนต์จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และสำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมีนาคม ได้แก่Hard disk drive ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.18% มีคำสั่งผลิตและส่งมอบเพิ่มขึ้นหลังห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในประเทศจีนมีปัญหา และการปิดฐานการผลิตที่ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้ รวมถึงผู้ผลิตได้ปรับแผนเร่งผลิตและส่งออกให้มากขึ้นผ่านทางเรือเนื่องจากเที่ยวบินขนส่งสินค้าลดลง
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.25% ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศคู่แข่งขาดชิ้นส่วนในการผลิต ในขณะที่ตลาดภายในประเทศอยู่ในระดับทรงตัว
การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.22% จากผลิตภัณฑ์กะทิเป็นหลักที่ปีนี้มีวัตถุดิบมะพร้าวจำนวนมาก รวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้าและการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายจึงมีการเร่งการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.70% จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาครีม โดยยาเม็ดและยาแคปซูลได้ผลิตตามคำสั่งขององค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด (ยารักษาตามอาการและยาฆ่าเชื้อ) ให้ผลิตเก็บเป็นสต็อกอย่างน้อย 3 เดือน รวมถึงยารักษาโรคความดัน เบาหวานและลดไขมันตามคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลที่เปลี่ยนจำนวนการให้ยาผู้ป่วยตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.75% จากผลิตภัณฑ์จากปลาแช่แข็งและเนื้อปลาบด ตามความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ภายใต้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ความต้องการสินค้าในตลาดโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมบางสาขามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารบางสาขา และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการเตรียมผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการนำเข้ารวม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.49% และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ)เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.72% อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์โลกปัจจุบันรวมถึงการปรับเปลี่ยนตัวสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค