“กรมส่งเสริมการเกษตร”เปิด 8 ข้อควรรู้“ทะเบียนเกษตรกร”

08 พ.ค. 2563 | 01:43 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2563 | 04:49 น.

กรมส่งเสริมการเกษตร เปิด 8 ข้อควรรู้ “ทะเบียนเกษตรกร” หลักฐานสำคัญใช้รับเงินเยียวยา 15,000 บาท จากผลกระทบโควิด-19

วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่จะถึงจะสิ้นสุดการขึ้นทะเบียนเกษตรกร หรือปรุงปรุงบัญชีเกษตรกร เพื่อขอรับสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกรจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 28 เมษายน 2563

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้อธิบายเกี่ยวกับทะเบียนเกษตรกร วิธีการ หลักเกณฑ์ ข้อมูลที่ต้องใช้ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การปรับปรุงบัญชีเกษตรกร การตรวจสอบสถานะ รวมไปถึงการสิ้นสุดสถานะทะเบียนเกษตรกรไว้อย่างละเอียด ดังนี้

 

1.ทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) คือ?

 

ข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตรที่แสดงถึงสถานภาพและการประกอบอาชีพการเกษตรของครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรต้องมายื่นแบบ ทบก.01 เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยสำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร สามารถเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ ตามมาตรการของรัฐ

 

2.การปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร คือ?

 

การแจ้งปลูกพืชทุกรอบการผลิต และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร เช่น เปลี่ยน / แก้ไข กิจกรรมการเกษตร หรือสมาชิกในครัวเรือน

3.หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

บุคคลในครัวเรือนคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนที่ประกอบการเกษตร ฐานทะเบียนเกษตรกรกำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้าน = 1 ครัวเรือน (ตั้งแต่ ต.ค.56 เป็นต้นมา) ต้องประกอบกิจกรรม ดังนี้

  • การทํานาหรือทําไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ รวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
  • การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือการเพาะเห็ด หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป
  • การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
  • การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจํานวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
  • การเลี้ยงแม่โคนม ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป
  • การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
  • การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไป
  • การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป
  • การเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
  • การทํานาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
  • การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
  • การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ หมายความว่า การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคูไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันประกอบการเกษตร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กําหนดตามและมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 ต่อปีขึ้นไป

4.ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลอะไรบ้าง?

 

ทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูล 9 หมวด ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน สมาชิกครัวเรือนและการเป็นสมาชิกองค์กร การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร การประกอบกิจกรรมการเกษตร แหล่งน้ำ เครื่องจักรกลการเกษตร หนี้สิน รายได้ และการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ

 

5.การขึ้นทะเบียนเกษตรกร

 

ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือน ขอขึ้นทะเบียนได้ 1 คน โดยต้องยื่นแบบ ทบก. 01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืช 15 วัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และติดประกาศในชุมชน 3 วัน และขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะยืนยันข้อมูลในระบบ เท่ากับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะเสร็จสมบูรณ์

 

แต่สำหรับช่วงที่สถานการณ์โรคโควิด-19 (COVID-19) เกษตรกรสามารถไปยื่นขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่ผู้นำชุมชน หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวมรวบข้อมูลส่งให้สำนักงานเกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไป ทั้งนี้แอพพลเคชั่น Farmbook ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่หรือแปลงใหม่ได้

6.การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเกษตรกร

  • ตรวจสอบข้อมูลบุคคล กับกระทรวงมหาดไทย
  • ตรวจสอบข้อมูลเอกสารสิทธิ์ที่ดิน กับกรมที่ดิน และ สปก.
  • ตรวจสอบทางสังคมผ่านการติดประกาศข้อมูลในชุมชน หากมีการคัดค้าน มีคณะทำงานระดับหมู่บ้านตรวจสอบพื้นที่วัดพิกัดที่ตั้งแปลง-วัดพื้นที่วาดผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล เพื่อป้องกันการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อน (ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 10 ล้านแปลง)

 

7.เมื่อใดต้องปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร

 

เมื่อมีการเพาะปลูกพืชทุกรอบ และเมื่อต้องการเปลี่ยนข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร จะต้องมีการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ทั้งนี้หากเป็นเกษตรกรายใหม่ แปลงใหม่ หรือรายเดิม แปลงใหม่ ต้องยื่นแบบ ทบก.01 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก หลังปลูกพืช 15 วัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูล ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และติดประกาศในชุมชน 3 วัน และขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะยืนยันข้อมูลในระบบ เท่ากับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะเสร็จสมบูรณ์สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม สามารถปรับปรุงผ่านแอพพลิเคชัน Farmbook ได้เลย

 

8.การสิ้นสุดสถานภาพในทะเบียนเกษตรกร

  • เสียชีวิต
  • เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • แจ้งยกเลิกประกอบการเกษตร
  • แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร
  • ไม่มีการปรับปรุงสถานภาพเลย ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี (เริ่มใช้ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป และมีผลย้อนหลังสำหรับผู้ไม่มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2560)

 

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากไม่แน่ใจว่ามีการขึ้นเบียนเกษตรกรไว้หรือไม่ หรือมีการปรุงปรุงบัญชีเกษตรกรแล้วหรือยัง สามารถเข้าไปการตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน ได้ที่เว็บไซต์ http://farmer.doae.go.th/ เพียงใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก

ก่อนหน้านี้เฟสบุ๊ก Digital DOAE อธิบายถึงการรับเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตกร ว่า

อย่างแรกที่ทุกท่านควรต้องทำคือ


1. เข้าไปที่เว็บ http://farmer.doae.go.th


2. กรอกเลขบัตรประชาชน

 

** ถ้า "ผลการค้นหา" แสดงเป็น "ปรับปรุงล่าสุด ปี2562 หรือ 2563" ก็ "ไม่มีความจำเป็นต้องไป" ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือ เข้าแอป farmbook เพื่อปรับปรุงข้อมูลใดๆ แล้ว เพราะข้อมูลของท่าน ปรับปรุง "ล่าสุดแล้ว"

 

ให้ทุกท่าน ตรวจสอบ "บัญชีธนาคาร ธกส" ว่า บัญชี ธกส ที่ท่านถืออยู่ ชื่อ-สกุล ตรงกับชื่อหัวหน้าครัวเรือนหรือไม่ ถ้าไม่ตรง ต้องเปิดบัญชีที่ตรงกัน "เท่านั้น" ใครไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. แต่มี ธนาคารอื่นเข้าไปกรอกข้อมูล ผ่านเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com 

 

ถ้า "ผลการค้นหา" แสดงเป็น "ปรับปรุงล่าสุด ปี2561 หรือน้อยกว่านี้" ให้รีบไปติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ท่านขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน "ไม่สามารถปรับปรุง" ผ่านแอป farmbook ได้ เพราะแอปดึงได้แค่กิจกรรมปี 2562 เท่านั้น 

เฉพาะนั้น สิ่งที่ทุกท่านควรเตรียมตอนนี้คือ

  • ตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นปัจจุบันหรือยังที่เว็บ http://farmer.doae.go.th
  • ตรวจสอบว่าบัญชี ธกส ตรงกันหรือไม่
  • สมุดทะเบียนเกษตรกร ยังไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าใครอยากมีติดมือไว้ รอหมดโควิท ค่อยไปขอรับที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ขึ้นทะเบียน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสอบสิทธิ์เกษตรกรรับเงินเยียวยาโควิด

ธ.ก.ส.ไขข้อข้องใจ “รับเงินเยียวยาเกษตรกร” 15,000 บาท

'www.เยียวยาเกษตรกร.com' ลงทะเบียนแจ้งบัญชีธนาคารรับเงิน 15,000 ได้แล้ว