นางสาวเพชรชมพู กิจบูรณะ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันนิ้(24 มิ.ย.2563) เห็นตรงกันว่า ควรจะต้องมีการขอต่อระยะเวลาการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการฯต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมตั้งกรอบเวลาให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ออกไปอีก
การขอขยายเวลาดังกล่าว เป็นผลหลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯคณะใหญ่ได้มีการประชุมมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง และคณะอนุกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP ได้ประชุมมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งได้มีการหยิบยกประเด็นที่เป็นที่สนใจของประชาชน และเป็นประเด็นที่อ่อนไหวขึ้นมาพิจารณา เช่น ความมั่นคงทางอาหารและยา สิทธิในเมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกรไทย การะงับข้อพิพาทระหว่างนักธุรกิจต่างชาติและรัฐไทย เป็นต้น
“ในการปะชุมแต่ละครั้งจะเห็นได้ชัดว่ามีหลายประเด็นที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างของคณะกรรมาธิการฯและที่ปรึกษาอยู่บ้าง บางประเด็นก็เป็นการเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนด้านข้อมูล ซึ่งต้องมีการลงลึกในการดูแม่บทของข้อตกลงที่เป็นภาษาอังกฤษ การตีความในมาตราที่เป็นข้อกังวลของไทยที่อาจจะต้องมีการแก้กฎหมายภายใน และผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรด้วย”
ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯได้เชิญหลายภาคส่วนมาให้ข้อมูล ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) ต่าง ๆ ที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพราะทางคณะกรรมาธิการฯ ตระหนักดีว่าข้อตกลงนี้หากไทยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงขอเจรจาแล้วต้องนำเสนอข้อห่วงกังวลของประชาชนไปเป็นข้อเจรจาด้วย หากมีคำถามใดที่เราเองยังตอบประชาชนได้ไม่ชัด ก็ไม่ควรดำเนินการไปถึงขั้นยื่นหนังสือดังกล่าว
จริงอยู่ว่าประเทศภาคีของ CPTPP จะมีการประชุมประจำปี โดยปีนี้จะจัดประชุมในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 และถ้าไทยพร้อมเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงก็ต้องส่งหนังสือแสดงเจตจำนงไปก่อนหน้าวันประชุม แต่ในการทำงานของคณะกรรมาธิการฯจะไม่นำกรอบเวลานี้มาเป็นข้อผูกมัดตัวเอง ไม่เร่งรีบพิจารณาจนถึงขั้นทำให้มีประเด็นสำคัญต้องตกหล่นไป เรื่องใดก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ เราต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบที่สุด
ในประเด็น UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทางคณะกรรมาธิการฯจะทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการไปทางหน่วยงานโดยตรงเพื่อขอความชัดเจนเรื่องสิทธิของเกษตรกรในพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง และการขอยกเว้นพันธุ์พืชบางประเภทที่เป็นพืชไร่ พืชเศรษฐกิจ ซึ่งหากได้รับการตอบรอบอย่างไรจะนำมารายงานให้ทราบต่อไป
นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การขยายเวลาพิจารณาศึกษา CPTPP จะขยายเวลาอีกกี่วันนั้น(เดิมจะให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ก.ค.2563)ยังตอบไม่ได้ ขึ้นกับที่ประชุมในสัปดาห์หน้าจะมีมติเป็นอย่างไร ทั้งนี้การขอขยายเวลาพิจารณาศึกษาเกิดจากหลายประเด็นยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างของกรรมาธิการและที่ปรึกษา เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV 1991 ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งในข้อตกลง CPTPP ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญานี้
อย่างไรก็ดีประเด็นการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หลายฝ่ายยังตีความความตกลง CPTPP ในฉบับที่เป็นภาษอังกฤษที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นที่กังวลว่าหากไทยเข้าร่วมแล้วเกษตรกรจะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันที่ประชุมได้มอบหมายให้ตัวแทนคณะกรรมาธิการ 3 ท่าน ที่มาจากกรมวิชาการเกษตร และตัวแทนภาคประชาชนไปตั้งคำถามและทำร่างจดหมายถึงหน่วยงานของ UPOV 1991 มานำเสนอที่ประชุม เพื่อส่งจดหมายขอความกระจ่างชัดต่อไป เช่น อาจจะตั้งคำถามว่า เกษตรกรจะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกในฤดูกาลหน้าได้หรือไม่ เป็นต้น