สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้รายงายถึงข้อเสนอโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้น ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ภายใต้โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่หน่วยงานต่างๆ เสนอขอใช้เงินเข้ามา 46,411 โครงการ คิดเป็นวงเงินราว 1.44 ล้านล้านบาท โดยรอบแรกนี้มีโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วจำนวน 213 โครงการ วงเงินราว 1.01 แสนล้านบาท แยกเป็นแผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 129 โครงการ วงเงินราว 5.8 หมื่นล้านบาท แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 77 โครงการ วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท และแผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภคและกระตุ้นการท่องเที่ยว 7 โครงการ วงเงินราว 2.24 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 นี้
สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่น่าจับตามองและเป็นที่สนใจของหลายฝ่าย “ฐานเศรษฐกิจ”ได้ทำการรวบรวมพบว่า ภายใต้แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เสนอ โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 15,920 ล้านบาท ถูกตัดลดลงจากที่เคยเสนอวงเงินมา 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินมาจัดสรรให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,604 กองทุน กองทุนละไม่เกิน 5 แสนบาท นำไปใช้สำหรับการเพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต มีเป้าหมายว่าจะสามารถช่วยสร้ายงานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ปีละ 90,000-100,000 ล้านบาท
อีกทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 14,315 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกร บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยตั้งเป้าหมายเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพ ทำเกษตรกรรมยั่งยืน 69,180 คน และมีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ 69,180 แห่ง ส่งผลมีพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มขึ้น 2.07 แสนไร่ เพิ่มพื้นที่กักเก็บนํ้า 415 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ปลูกป่า 20,754 ไร่
ขณะที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงิน 4,953 ล้านบาท ปรับลดวงเงินจากเดิมที่เสนอมา 5,672 ล้านบาท เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในระดับพื้นฐาน มีเป้าหมาย ในการสร้างแกนนำขับเคลื่อนในพื้นที่เป้าหมายได้จำนวน 26,465 คน เกิดพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 337ตำบล ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,055 ไร่ เกิดพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 3 ไร่ จำนวน 26,128 ครัวเรือน ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 59,234 ไร่ และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ แก่ เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานอพยพกลับท้องถิ่น 337 ตำบลๆ ละ 20 คน รวม 6,740 คน
นอกจากนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) วงเงิน 13,500 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และสนับสนุนการจ้างงาน จำนวน 20 คนต่อตำบล โดยจ้างประชาชนทั่วไป (ประมาณ 25% ของจำนวน ในอัตรา 9,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 12 เดือน) บัณฑิตจบใหม่ (ประมาณ 50% ของจำนวน ในอัตรา 15,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา12 เดือน) และนักศึกษา (ประมาณ 25% ของจำนวน ในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 12 เดือน) จากจำนวนกลุ่มเป้าหมาย 6 หมื่นคน
ส่วนแผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด วงเงิน 13,904 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอมาวงเงิน 2.04 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนงบประมาณ 6,800 แปลงๆ ละ 3 ล้านบาท ในการจัดหาปัจจัยการผลิต วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์การเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"คมนาคม" ชง สภาพัฒน์ เคาะเยียวยาโควิด 6.6 พันล.
ปรอทแตก! ยื่นขอใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจพุ่ง 1.36 ล้านล้าน
ผ่าโครงการ "กรมป่าไม้" หลังได้งบกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนจำนวนพันล้านบาท
หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563