จากที่กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศจับมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เป้าหมายเพื่อสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก และผลักดันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกนั้น
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต"เป็นเรื่องที่ไทยเองจะต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากการค้าของโลกในยุคโลกาภิวัตน์นี้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ตลาดผู้บริโภคเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคอยากจะได้คือสิ่งที่เราต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำได้แค่ช่วงข้ามคืน
ทั้งนี้ต้องเริ่มจากการพัฒนาไม่ว่าจะในการศึกษาวิจัยตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ จนมาถึงการทดลองปลูกจนมีผลเป็นที่น่าพอใจและลูกค้ายอมรับ จากนั้นก็ต้องขยายเมล็ดพันธุ์จนมีเพียงพอที่จะปลูกจนได้จำนวนที่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดได้ โดยรวมแล้วน่าจะใช้เวลาในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี เพราะฉะนั้นคงไม่สามารถที่จะทำให้บังเกิดผลได้ในปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งยังไม่รวมถึงการพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรวมถึงภาคการแปรรูป ระบบสุขอนามัยและอื่น ๆ อย่างไรก็ดีเป็นนิมิตหมายที่ดีถ้ามีการทำงานประสานกันระหว่างกระทรวงหลักรวมถึงภาคเอกชนที่จะมีข้อมูลที่ถูกต้องของตลาดซึ่งเอกชนจะใกล้ชิดมากกว่าหน่วยงานรัฐ
“ผมเข้าใจว่าการที่เรามีโอกาสขยับอันดับในเรื่องของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในปีนี้หรือปีหน้าอาจจะเป็นการคาดการณ์ที่เร็วเกินไป ถ้าจะเกิดขึ้นได้ก็คงไม่ได้มาจากเรื่องยุทธศาสตร์ดังกล่าวอาจจะมาจากเรื่องสถานการณ์โควิดที่ทำให้หลายประเทศกักตุนอาหารมากขึ้นและจากบางประเทศส่งออกที่ประสบปัญหาโรคระบาดในปัจจุบัน ซึ่งในประเด็นนี้อาจจะทำให้ไทยซึ่งทั่วโลกให้ความไว้วางใจว่าเป็นประเทศที่สามารถควบคุมเรื่องโควิดได้ดีจะมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรในภาพรวมในมูลค่าที่สูงขึ้นหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือกุ้งและไก่แช่แข็ง”
แต่อย่างไรก็ตามก็มีหลายผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นข้าวซึ่งปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ไม่เกิน 6.5 ล้านตันจาก 7.5 ล้านตันในปีที่แล้วและอาจจะหล่นไปเป็นที่ 3 ของโลกในเรื่องตัวเลขส่งออกรองจากอินเดียและเวียดนาม ด้วยเหตุผลที่ข้าวไทยมีราคาที่แพงกว่าคู่แข่งในระดับค่อนข้างมากและพันธุ์ข้าวที่ไม่หลากหลายเหมือนที่คู่แข่งมีทำให้ตลาดข้าวของไทยหดตัวมาโดยต่อเนื่อง
สำหรับสิ่งที่พูดคุยกันในเรื่องยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิตจะสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้ เราต้องมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายและมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงถึงจะสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆได้ แต่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งเหล่านี้จะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถึงจะช้าก็ต้องทำเพราะนี่คือความอยู่รอดของอุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคต หากมิเช่นนั้นข้าวไทยในตลาดโลกก็คงเหลือแค่เป็นตำนาน สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าจะผลักดันให้ไทยกลับมาเป็นอันดับ 1 ผู้ส่งออกข้าวโลกโลกภายใน 2 ปีคงไม่ใช่สิ่งที่น่าจะทำได้ แต่ถ้าเรามีความตั้งใจและพยายามผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นและต่อเนื่อง ในอนาคตก็อาจจะมีความเป็นไปได้
ข้อมูลในปี 2562 ผู้ส่งออกข้าวโลก 3 อันดับแรกได้แก่ อินเดีย ปริมาณ 9.7 ล้านตัน , ไทย 7.5 ล้านตัน และเวียดนาม 6.5 ล้านตัน ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 อินเดียส่งออกได้ 5.5 ล้านตัน, เวียดนาม 3.4 ล้านตัน และไทย 3 ล้านตัน