สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

29 ก.ค. 2563 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2563 | 12:23 น.

​​​​​​​สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำ พร้อมขยายผลให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศภายในปี 66  มั่นใจแก้แล้ง ท่วมซ้ำซาก

สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวและเปิดการสัมมนา หัวข้อ “เดินเครื่อง 8 ลุ่มน้ำ จัดทำผังน้ำ เครื่องมือบริหารน้ำยุคใหม่”  ว่า สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561   โดยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้ และได้คัดเลือกลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ศึกษาจัดทำผังน้ำเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับการจัดทำผังน้ำ ทั้ง  22 ลุ่มน้ำ ต่อไป

 

ในปีนี้ สทนช. ได้ขยายผลต่อยอดการดำเนินการโดยคัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จำนวน  8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน มาดำเนินการศึกษาก่อนและจะทยอยดำเนินการให้ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2566

สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

 

สำหรับกระบวนการในการดำเนินการศึกษานั้น จะต้องมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1. แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง 2. แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา

สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

3.แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองในกรณีศึกษา อย่างน้อย 5 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 กำหนดขอบเขตผังน้ำจากสภาพพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค (โครงข่ายถนน และช่องเปิดต่าง ๆ) ในสภาพปัจจุบัน กรณีที่ 2 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ผังน้ำไม่ให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ กรณีที่ 3 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความชัดเจนในการดำเนินการ

 

สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

กรณีที่ 4 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่างๆ และการเสนอเพิ่มเติมโดยผู้ศึกษา กรณีที่ 5 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญในลุ่มน้ำ  ที่อาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ และการเสนอเพิ่มเติมโดยที่ปรึกษา

 

สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

ทั้งนี้ในการศึกษาของทุกลุ่มน้ำจะต้องจัดทำแผนปรับปรุง ฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก และในกรณีที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำจะต้องเสนอแนะขนาดของช่องเปิดของอาคารในลำน้ำ  รวมทั้งดำเนินการศึกษาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งแสดงรายละเอียดข้อมูลของผังน้ำ ประกอบด้วย ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมถึงตลอดทั้งสองฝั่งลำน้ำ ขอบเขตพื้นที่ผังน้ำ ขอบเขตโซนพื้นที่ในผังน้ำ (พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมระดับสูง กลาง ต่ำ ระดับต่าง ๆ) และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้มีการพัฒนาในพื้นที่ผังน้ำ จะมีหลักเกณฑ์ในการพัฒนาและการก่อสร้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมและความเสี่ยงจากการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในพื้นที่ด้วย

 

“การศึกษาของทั้ง 8 ลุ่มน้ำในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ16 เดือน เริ่มวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 และจะศึกษาแล้วเสร็จในวันที่ 20 กันยายน 2564  โดยจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 4 ครั้งต่อลุ่มน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณา พร้อมสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำได้อีกด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย