นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปี 63 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 2,779 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (สรอ.) (เทียบเท่า 87,549 ล้านบาท) ลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3,001 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 94,830 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันปี 2562 โดยมีปริมาณขายเฉลี่ยอยู่ที่ 345,207 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 6% จาก 326,971 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย และบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเลียมทั่วโลกลดลงอย่างมาก ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบปรับตัวลดลงกว่า 50% จากต้นปีที่ผ่านมา มีผลให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. เฉลี่ยลดลงประมาณ 15% มาอยู่ที่ 40.15 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 47.26 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปี 2562
ราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ปรับตัวลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่าราคาน้ำมันดิบโลก ด้วยโครงสร้างราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ.ผูกกับราคาน้ำมันเพียงส่วนหนึ่งและมีการปรับราคาย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน ส่วนของน้ำมันดิบซึ่งมีปริมาณการขายประมาณ 30% ของปริมาณการขายทั้งหมด ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง บริษัทได้ทำสัญญาประกันความเสี่ยงไว้แล้วบางส่วน นอกจากนี้ บริษัทมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) จำนวน 47 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดา เนื่องจากคาดการณ์ราคาน้ำมันในระยะยาวที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยากต่อพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก จำนวน 409 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 12,935 ล้านบาท) ลดลง 51% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 827 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 26,163 ล้านบาท) โดยบริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ 30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา ในระดับ 70% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 2/63 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,095 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 34,954 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 4,323 ล้านบาท) จากปริมาณการขายและราคาผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้พลังงานที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา
นายพงศธร กล่าวต่อไปอีกว่า จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2563 ที่ 1.50 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 14 สิงหาคม 2563 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 สิงหาคม 2563
นายพงศธร กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวน ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศ ปตท.สผ. จึงได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการขายในปี 2563 เป็น 355,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงประมาณ 9% จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ปรับลดงบประมาณในปีนี้ลง 15-20% จากเดิมที่ตั้งไว้ 4,613 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 143,012 ล้านบาท) โดยได้พิจารณาตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนและเลื่อนแผนการเจาะสำรวจในบางโครงการออกไป โดยยังสามารถรักษาระดับการผลิตตามสัญญาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์การดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่มีความท้าทาย พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“ปตท.สผ. ได้ประเมินผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในอนาคต เราจึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินการและเป้าหมายระยะยาวใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2573) เพื่อให้บริษัทสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึง การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันที่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยหลัก ๆ แล้ว เรายังคงมุ่งเน้นเรื่องการปรับลดโครงสร้างต้นทุนอย่างต่อเนื่อง”
โดยตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับชั้นนำของกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry top quartile) เพื่อให้บริษัทมีความคล่องตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงราคาน้ำมันผันผวน โดยจะยังคงมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสำหรับการลงทุนต่อยอดธุรกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการเข้าซื้อกิจการซึ่งยังคงเน้นการลงทุนในประเทศไทย เมียนมา มาเลเชีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยตั้งเป้าอัตราการเติบโตของการผลิตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 5 และมีอัตราส่วนปริมาณสำรองต่อการผลิต (R/P ratio)ที่ 7 ปี
นอกจากนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงโรงงานผลิต (Upstream & Liquefaction) และการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดย ปตท.สผ.ให้ความสนใจกับการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจพลังงานและการเติบโตในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าว่าธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะสามารถสร้างผลกำไรได้ 20% ของกำไรสุทธิของ ปตท.สผ. ในอีก 10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.ยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยเน้นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ระบบงานต่าง ๆ รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนการผลิตให้มากขึ้นอีกด้วย