ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 สิงหาคม 2563) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ)บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(ซีพี) และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายหลักสูตร “การปฏิรูปธุรกิจและสร้างเครือข่ายนวัตกรรม” รุ่นที่ 4 ประจำปี 2563 (Business Revolution and Innovation Network : BRAIN 4) ในหัวข้อ “มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล” (Technology & Digital Solutions) ซึ่งเป็นหลักสูตรปั้นผู้นำองค์กรที่จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(ส.อ.ท.) ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ มีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 90 คนให้ความสนใจเข้าฟังและซักถามประเด็นต่าง ๆ อย่างคึกคัก
ในการนี้ นายศุภชัย ได้สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้เข้าอบรมว่า ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ สิ่งสำคัญคือทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง และจะเป็นพลังสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจและก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยย้ำว่าหลังสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทุกภาคส่วนต้องไม่ทำเฉพาะเรื่องเยียวยาหรือทำให้อยู่รอดเท่านั้น แต่ต้องทำแบบ Reform เพื่อสร้างศักยภาพใหม่ให้ประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องให้ช่วยกันทำให้ประเทศฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้นายศุภชัยได้นำเสนอ 5 ข้อหลักเพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย 1.ด้านการเกษตร ต้องเน้นการปฏิรูปเพื่อเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่กับการปฏิรูประบบชลประทานเพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การเปลี่ยนรูปแบบ (Reform) สหกรณ์การเกษตร รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน การจัดทำโซนนิ่ง และเพิ่มมูลค่าทางการตลาด เพื่อส่งออกต่อไป 2.ด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวระยะยาวมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มเติบโตจากนี้ และเกิดมูลค่าการใช้จ่ายสูงขึ้น 3.ด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ระบบสร้างแจงจูงใจ (Incentive) ในการดึงคนมีความสามารถและให้วีซ่าจากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่และดึงดูดการลงทุน EEC&SEC เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม 4.0 หนุนเสริมศักยภาพในด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยี การค้าและการเงิน ซึ่งสามารถดึงดูดการลงทุนของทั่วโลกได้ และ 5.การพัฒนาทรัพยากรบุคคลในอนาคตเพื่อเพิ่มทักษะทั้งในส่วนของ Reskill และ Upskill ซึ่งทั้ง 5 เรื่องหลักมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้
นอกจากนี้นายศุภชัย ได้เสนอ 3 มาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้แก่ 1.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติผู้ประกอบการรายย่อย SMEs รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับเกษตร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC+SEC 2.เน้นการแก้ปัญหาการว่างงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาจบใหม่ให้มีงาน และ 3.โครงสร้างการขับเคลื่อนที่ไม่ธรรมดา คือการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ การสนับสนุนธุรกิจในกลุ่ม New S-Curve หรือกลุ่ม Startup
สำหรับ “การปฏิรูปธุรกิจและสร้างเครือข่ายนวัตกรรม” จัดต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 4 โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์จริงในองค์ความรู้ 8 ด้าน ได้แก่ ICT, Logistic, Economic, Finance, Energy, Industry, Argro Base และ Health โดยการอบรมครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรที่หลากหลายวงการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และให้ความสนใจในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพื่อต่อยอดความคิดพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเพื่อยกระดับประเทศให้ก้าวสู่การเป็นนำทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน