กมธ.ชงหมื่นล้านจัดระเบียบพันธุ์พืช ก่อนร่วม CPTPP

19 ส.ค. 2563 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2563 | 10:21 น.

กมธ. ชงรัฐของบหมื่นล้านจัดฐานทะเบียนข้อมูลพันธุ์พืชใหม่ทั้งระบบ รับร่วมวง CPTPP สศก.เผย 16 สินค้าอ่อนไหวจ่อทะลัก ตัวแทนยาง ปาล์ม ข้าว ประมง ประสานเสียงเสียมากกว่าได้

 

การเตรียมเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย การนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ และต้องหาแนวทางการเยียวยาแก่เกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบ

 

นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช มีกรอบและแนวทางศึกษาคือ แนวคิดและการตีความอนุสัญญา UPOV1991 ทั้งข้อกังวลและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าร่วม โดยแนวทางที่จะเร่งดำเนินการคือ 1.การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และ 2.การเสนอ(ร่าง) พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. .... ของกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว คาดจะเสนอผ่านรัฐสภาปลายปีนี้

 

“ไทยสามารถกระทำได้เพราะทางข้อตกลงเปิดช่องให้ประเทศสมาชิกออกกฎหมายของตนเองเพื่อยกเว้นได้ ปรากฏใน ARTICLE15(2) ของอนุสัญญาแล้วแต่ละประเทศจะกำหนดจะอนุญาตแค่ไหนเพียงใด ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศจะพิจารณาออกกฎหมายของตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำควบคู่กับการออกกฎหมายคือฐานข้อมูลพันธุ์พืชเดิมของประเทศไทยแต่ละชนิดจะต้องชัด ดังนั้นงบประมาณจะต้องมีมากประเมินเบื้องต้นจะของบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดระเบียบฐานทะเบียนข้อมูลและสร้างเกราะป้องกันหากไทยจะเข้าร่วมต้องมีความพร้อม ไม่เช่นนั้นต่างชาติก็จะฉวยโอกาสนำพันธุ์พืชไทยไปต่อยอดดัดแปลงโอนสัญชาติไปหมด”

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดฉาก "CPTPP” เกษตรกร เฮ

ไส้ใน CPTPP 11 ประเทศ ขอผ่อนปรนอื้อ

อัพเดท CPTPP ติดตามความคืบหน้าทุกมิติ ได้ที่นี่

กมธ.ชงหมื่นล้านจัดระเบียบพันธุ์พืช ก่อนร่วม CPTPP

นายวีระกร กล่าวว่า คำนิยามในร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ.....  อาทิ “ทรัพยากรชีวภาพ” หมายความว่า ทรัพยากรพันธุกรรม สิ่งมีชีวิต หรือส่วนใดๆ ของสิ่งมีชีวิต ประชากร หรือองค์ประกอบที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตหรือระบบนิเวศ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น หายาก ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ ทั้งทางบก ทางทะเล และน้ำ รวมทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์เพื่อการค้าหรือไม่ จะอยู่ในกฎหมายความหลากหลายชีวภาพทั้งหมด ซึ่งทางคณะกำลังศึกษาเป็นรายมาตรา และจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษาไปพร้อมกันว่า 2 กฎหมายเพียงพอหรือไม่ อะไรทำได้ ทำไม่ได้ คุ้มครองแค่ไหน อย่างไรก็ดีในข้อตกลง CPTPP มีทั้งหมด 30 ข้อบท ยังเปิดช่องให้มีการเจรจาขอยกเว้นหากมีผลกระทบร้ายแรงจากการทะลักของสินค้าเข้าสู่ตลาด อาจจะปกป้องประเทศสมาชิกด้วยการกำหนดโควตานำเข้า เป็นต้น

 

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุสินค้าเกษตร 16 ชนิดมีความอ่อนไหวจะได้รับผลกระทบจากการร่วม CPTPP จากจะมีสินค้าจากประเทศสมาชิกทะลักเข้ามาก ได้แก่  1.ผลไม้ 2.พืชผัก 3.เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ 4.นมและผลิตภัณฑ์ 5.เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ 6.เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ 7.ปาล์มน้ำมัน 8.มันสำปะหลัง 9.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10.น้ำตาล 11.ยางพารา 12.กาแฟ 13.ข้าว 14.ปลาและผลิตภัณฑ์ 15.กุ้งและผลิตภัณฑ์ 16.สัตว์น้ำอื่นและผลิตภัณฑ์

 

กมธ.ชงหมื่นล้านจัดระเบียบพันธุ์พืช ก่อนร่วม CPTPP

 

ด้านนายสุนทร รักษ์รงค์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ CPTPP และบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยมีพันธุ์ยางพื้นบ้านอยู่จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครองสิทธิ และปัจจุบันเกษตรกรใช้พันธุ์ยางที่มาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

 

นายอธิราษฎร์ ดำดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวว่า พันธุ์ปาล์มต้องซื้อจากแหล่งเฉพาะซึ่งมีกฎหมายดูแลคุ้มครองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้า CPTPP ก็ได้ 

 

ด้านตัวแทนสมุนไพร มีความเห็นว่าสมุนไพรของไทยมีจำนวนมาก จึงควรมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักเก็บข้อมูลสมุนไพรของไทยทั้งหมด และหากมีการผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์การค้า อาจเกิดการละเมิดสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ

 

นายพิชัย แซ่ซิ้ม เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับเพื่อจำหน่าย ราคาลดลงมากและยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ราคาสัตว์น้ำในประเทศตกต่ำลงอีกจากจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมประมงและแรงงานที่เกี่ยวเนื่องจะได้รับผลกระทบ ตกงานอีกมาก

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วม CPTPP ถ้ายังเดินหน้าจะได้เห็นชาวนาเต็มถนนแน่นอน ขออย่าแสวงหาผลประโยชน์กับชาวไร่ชาวนาเลย 


หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,602 วันที่ 20 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563