“สะพานดำ “ สะพานรถไฟ สายประวัติศาสตร์ กำลังถูกเนรมิต ให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญประจำจังหวัดลำปาง แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ทางภาคเหนือ ทั้งนี้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมพัฒนาเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดลำปางจัดกิจกรรมซ่อมแซมบูรณะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ สะพานดำ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำวังของจังหวัดลำปาง ให้กลายเป็นแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญประจำจังหวัด และในโอกาสนี้ ผู้ว่าการรถไฟฯ ยังได้ร่วมกันทาสีสะพานดำ ร่วมกับนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องประชาชน และนักเรียน นักศึกษา ให้พัฒนาพื้นที่ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม
นายนิรุฒ เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ มีนโยบายสำคัญในการร่วมมือบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชน ในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ เส้นทาง และสถานีรถไฟทั่วประเทศ ให้เกิดการใช้สอยเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ทั้งการอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยในการเดินทาง ตลอดจนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ การรถไฟฯ ได้ร่วมมือกับจังหวัดลำปาง โดยได้รับเกียรติจากนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ร่วมดำเนินกิจกรรมซ่อมบูรณะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ สะพานดำจังหวัดลำปาง เพื่อพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด พร้อมทั้งยังได้ร่วมกันปรับปรุงพื้นที่โดยรอบสะพานดำ ให้กลายเป็นศูนย์กลางวิถีชุมชนชาวลำปาง ทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย รวมถึงแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของสะพานดำให้คนรุ่นหลังได้รับทราบอีกด้วย
“สะพานดำ นับเป็นสะพานรถไฟสายสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากการต่อขยายทางรถไฟจากลำปางไปเชียงใหม่ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2459 ซึ่งขณะนั้นสะพานดำถือเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญของภาคเหนือรวมถึงชาวลำปาง ต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรพยายามใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดสะพานรถไฟหลายแห่งเพื่อตัดเส้นทางลำเลียง ซึ่งสะพานดำข้ามแม่น้ำวังเป็นหนึ่งในเป้าหมาย แต่สุดท้ายแล้วสะพานดำก็รอดพ้นจากการโดนทิ้งระเบิดโดยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สะพานดำได้รับการบูรณะให้มีความแข็งแรงเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถไฟอย่างต่อเนื่อง สีดำบนสะพานเป็นการทาสีโครงสร้างเหล็กเพื่อป้องกันสนิมตามมาตรฐานของการรถไฟฯ จำนวน 6 ชั้น โดยสีดำเป็นสีชั้นนอกสุด ซึ่งการทาสีดำให้กับสะพานนั้นกลายเป็นชื่อเรียกติดปากของประชาชนว่า
“สะพานดำ” จนถึงปัจจุบัน และถึงวันนี้สะพานแห่งนี้ยังคงมีร่องรอยระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงมีที่กรองน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเคยใช้สำหรับการเติมน้ำให้รถจักรไอน้ำในอดีตตั้งอยู่ด้วย”
นายนิรุฒกล่าวต่อว่า ในอนาคตการรถไฟฯ ยังมีแผนขยายความร่วมมือกับหน่วยงานทางการท่องเที่ยว ในการพัฒนาและประชาสัมพันธ์สะพานดำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติได้เดินทางมาเยี่ยมเยียน ซึ่งจะช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัด รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการหมุนเวียนกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ช่วยต่อยอดให้เศรษฐกิจชุมชนเกิดความเข้มแข็งอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ผู้ว่าการรถไฟฯ ยังเดินทางไปพินิจงานและตรวจเยี่ยมอุโมงค์ขุนตาน และสะพานทาชมภู ที่จังหวัดลำพูนพร้อมด้วยมีการประชุมพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายเหนือกับผู้บริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ตลอดจนการหารือถึงแผนพัฒนาระบบรางในเส้นทางสายเหนือร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวมถึงยังได้ลงตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแก่พนักงานสถานีเชียงใหม่ พร้อมรับฟังความเห็นเพื่อนำมาใช้พัฒนาการให้บริการเส้นทางรถไฟสายเหนือให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต