ด้วยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาประมงไทย ใน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้กำหนดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาภาพรวมของปัญหาประมงทะเลไทย และแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประมงอย่างยั่งยืน ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ทางคณะอนุฯจะเปิดโอกาสให้เข้าชี้แจงผลกระทบปัญหาประมงพาณิชย์ก่อนและหลังที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมแก้ปัญหาไอยูยู พร้อมทั้งผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว และแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งทางด้านกฎหมายและด้านนโยบาย รวมถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาประมงพาณิชย์ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเหตุผลที่ ทำไม ชาวประมงไทย ถึงเรียกร้องให้แก้ไข กฎหมายประมง โดยขอยกตัวอย่างกรณีการกระทำความผิดที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ หลายๆกรณี ดังนี้ 1. เหตุเกิดที่จังหวัดติดกับประเทศเพื่อนบ้านกรณี ชาวประมงไปทำการประมงใกล้เขตแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่เขตแดนทางทะเลยังไม่มีความชัดเจนเพราะไม่สามารถตกลงกันได้ จึงต้องถือว่าชาวประมงไทย คอยปกป้องเขตแดนอธิปไตย ทางทะเลให้กับประเทศไทย ไม่เช่นนั้นชาวประมงประเทศเพื่อนบ้านก็จะมายึดครองพื้นที่ทางทะเลที่ติดกับประเทศไทย โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประเทศของตน เพราะชาวประมงประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาทำการประมงอยู่ในบริเวณดังกล่าวอยู่ตลอดเวลาไม่มีเรือประมงไทยเข้ามาทำการประมงเลย"ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆกับเขตกันชนชายแดนบนฝั่งที่ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศพยายามเอาประชาชนประเทศของเขา เข้ามาทำนาทำไร่ใกล้เขตชายแดนไทยโดยการตั้งหมู่บ้านใกล้ๆเขตแดนไทย เป็นต้น"
แต่กับชาวประมงไทยต้องมาเจอกับกฎหมายประมง ที่มีโอกาสทำให้ "ประเทศไทยเสียสิทธิเสียดินแดนทางทะเลให้กับประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่รู้ตัว" เพราะชาวประมงไทยไม่กล้า และไม่สามารถเข้าไปทำการประมงใกล้เขตกันชนชายแดนไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกเพราะมีโอกาสถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ VMS ว่าเรือประมงไทยได้กระทำความผิดรุกล้ำเขตแดนประเทศเพื่อนบ้าน จากการติดตามเรือประมงไทยด้วยระบบVMS ของศูนย์ VMS โดยการกล่าวหาว่าเรือประมงไทยได้กระทำความผิดโดยการรุกล้ำเขตแดนประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปทำการประมงโดยไม่มีใบอนุญาต ตามมาตรา48วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษปรับตามมาตรา133 โดยโทษปรับตั้งแต่ 2-30 ล้านบาท และยังอาจถูกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ตาม มาตรา105(2) โดยสั่งกักเรือและให้ยึดสัตว์น้ำขายทอดตลาดต่อไป และ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา113(4)ประกอบมาตรา114(2)
กรณีแบบนี้ชาวประมงที่ได้ถูกดำเนินคดีและส่งฟ้องศาล แต่ในที่สุดศาลก็ยกฟ้อง เหตุผล เพราะศาลเห็นว่าเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีความชัดเจนแล้วจะกล่าวหาชาวประมงไทยว่ามีการรุกล้ำเข้าไปทำการประมงในเขตแดนประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร แต่กว่าศาลจะตัดสิน ก็ใช้เวลา 1-2 ปี เมื่อศาลตัดสินแล้ว กรมประมงในอดีตก็ไม่ยอมคืนใบอนุญาตให้กับชาวประมง จนในที่สุดชาวประมงก็เกือบจะฆ่าตัวตาย สุดท้ายก็ยังโชคดีที่ผู้มีอำนาจเห็นถึงความเดือดร้อนสั่งคืนใบอนุญาตให้กับชาวประมง จากการเรียกร้องขอความเป็นธรรมมานานถึง 2-3 ปี แต่ไม่ได้รับการ เยียวยาจากการถูกสั่งกักเรือประมงระหว่างดำเนินคดี ชาวประมงจึงต้องเสียหายฟรี และเสียโอกาสในการทำประมง
2.เหตุเกิดในช่วงปี 2558-2529 จังหวัดเพชรบุรี เรือประมงที่ทำการประมงถูกต้อง ตามกฎหมายได้ แจ้งเข้า ออก ถูก ต้องเอกสารถูกต้อง แต่รอการตรวจเอกสารจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจเอกสาร ตรวจแรงงานทุกคนแต่เมื่อเรือประมงเทียบท่าเทียบเรือแต่ยังไม่ถึงคิวการตรวจเรือจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากมีคิวการตรวจหลายคิวก่อนหน้าที่จะถึงการตรวจของเรือประมงลำนี้ เมื่อพอถึงคิวการตรวจเอกสาร ตรวจสอบแรงงานที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จำนวนแรงงานแต่ก่อนที่จะถึงคิวตรวจมีแรงงาน 1 คนได้หนีกลับบ้านเมื่อเรือประมงจอดเทียบท่า ไปก่อนที่จะได้รับการตรวจเรือประมงเนื่องจากปัญหาภรรยาที่บ้านหลบหนีไปกับชายอื่นจึงรีบกลับบ้านที่ประเทศเมียนมาร์โดยไม่สนใจรอการตรวจจากเจ้าหน้าที่ทำให้เมื่อถึงคิวการตรวจเรือประมงลำนี้ ของเจ้าหน้าที่ทำให้เมื่อตรวจสอบแล้วมีแรงงานไม่ครบ 1 คน โดยแจ้งว่าเอกสารการแจ้งจำนวนแรงงานไม่ครบ ตามจำนวนที่แจ้ง ให้ถือว่าเป็นการแจ้งเอกสารอันเป็นเท็จตามมาตรา81(3)ประกอบมาตรา82 และเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา114(3)
"ทั้งๆที่ไต๋เรือและเจ้าของเรือได้ชี้แจงว่าแรงงานตอนเข้ามายังอยู่ครบ แต่เนื่องจากแรงงานได้หลบหนีกลับบ้านไปก่อนที่จะตรวจ โดยเจ้าของเรือพยายามให้คนไปติดตามและถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ มายืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าแรงงานยังมีชีวิตอยู่และได้หนีกลับบ้านไปก่อน แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังสั่งดำเนินคดี เปรียบเทียบปรับตามมาตรา152วรรคสาม ปรับ 500,000บาท ทั้งๆที่ชาวประมงไม่ได้กระทำความผิดเลยยังต้องถูกดำเนินคดีแบบง่ายๆเพราะเรื่องเล็กน้อย"
3.เหตุเกิดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ชาวประมงจะแจ้งออกทำการประมง โดยแจ้งจำนวนแรงงานออกครบถ้วน แต่เนื่องจากมีแรงงานป่วย 1 คนต้องไปนอนโรงพยาบาล จึงต้องแจ้งจำนวนแรงงานที่เหลืออยู่ใหม่แต่เนื่องจากแรงงานหน้าตา คล้ายๆกันจึงแจ้งแรงงานออกไปทำการประมง สลับตัวกันกับแรงงานที่ป่วยนอนอยู่รักษาที่โรงพยาบาลวันรุ่งขึ้นเมื่อเรือประมงเข้าฝั่ง เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบบัญชีรายชื่อแรงงานกับตัวแรงงาน ไม่ถูกต้องเนื่องจากแรงงานที่มีชื่อออกไปกับเรือนอนอยู่โรงพยาบาลแต่แรงงานมีไปกับเรือประมงไม่มีชื่อแจ้งออกเพราะสลับตัวกันเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าเอกสารไม่ถูกต้องถือว่าใช้เอกสารอันเป็นเท็จจึงเป็นความผิดตามมาตรา81(3)ประกอบมาตรา82 มีโทษปรับตามมาตรา152 ปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 2 ล้านบาท
4.เหตุเกิดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่องการเข้าใจผิดของไต๋เรือทำให้ไม่ได้แจ้งออก จากท่าเพื่อไปทำการประมงเนื่องจากไต๋เรือโทรศัพท์ตกน้ำจึงวานให้นายท้ายเรือช่วยโทรบอกกับเมียไต๋เรือประมงให้แจ้งออกทำการประมงให้ที แต่เนื่องจากนายท้ายเรือประมงลืมบอกเมียไต๋เรือให้แจ้งออกให้ที ไต๋เรือเข้าใจว่าได้แจ้งออกแล้วจึงนำเรือประมงออกทำการประมงปกติ ผ่านไป 2 วัน เมียไต๋เรือเปิดระบบการแจ้งเข้า ออก พบว่าไม่ได้แจ้งออก แต่เรือประมงได้ออกไปทำการประมงแล้ว และระบบติดตามเรือประมงVMSก็ทำงานปกติ เรือประมงไม่ได้แอบไปทำการประมงผิดกฎหมายเมียไต๋เรือจึงไปแจ้งศูนย์แจ้งเข้าแจ้งออก(PIPO)ว่าไต๋เรือเข้าใจผิดคดิว่านายท้ายเรือได้บอกเมียไต๋เรือให้แจ้งออกให้แล้ว ทำให้ไม่มีการแจ้งออกแต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบบดูว่าไม่มีการแจ้งออก แทนที่จะเห็นใจเพราะชาวประมงมาบอกให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าไม่ได้แจ้งออกเพราะการเข้าใจผิด ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ของชาวประมงจึงมาแจ้งในภายหลังแต่กับโดนเจ้าหน้าที่สั่งดำเนินคดี เพราะเป็นความผิดตามมาตรา81(3)มีโทษปรับตามมาตรา152วรรคสามปรับ 5 แสนบาทเศร้าไหม เท่านั้นไม่พอยัง ถูกคำสั่งทางปกครองพักใช้ใบอนุญาตอีก 30 วัน ตาม มาตรา113 (3) อีกด้วย
5.เหตุเกิดที่จังหวัดตรังและจังหวัดสมุทรปราการ ปัญหา เรื่องการแจ้งเข้าและการยื่นเอกสาร ก่อนการขึ้นสัตว์น้ำผิดพลาดประมาณปี 2560-2561 ชาวประมงจังหวัดตรังและจังหวัดสมุทรปราการ เกิดความเข้าใจผิดเกิดความผิดพลาดการแจ้งเอกสารก่อนขึ้นสัตว์น้ำตามมาตรา81(3) โดยเกิดเหตุจากที่กรณีไต๋เรือ ได้ส่งเอกสารบันทึกสัตว์น้ำ(ล็อคบุ๊ค)ให้กับ คนที่รับจ้างแจ้งเข้า แจ้งออกและแจ้งเอกสารบันทึกสัตว์น้ำให้กับคนรับจ้างแจ้งแล้ว แต่เนื่องจาก คนรับจ้าง แจ้งเข้า แจ้งออก แจ้งเอกสาร ยังไม่ได้ส่งเอกสารบันทึกการจับสัตว์น้ำให้กับเจ้าหน้าที่ก่อนขึ้นสัตว์
แต่ ไต๋เรือเข้าใจว่าได้แจ้งแล้ว พอเรือเข้าถึงฝั่ง ก็นำสัตว์น้ำปลาเป็ดที่นำไปผลิตเป็นปลาป่น เพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ ขึ้นท่าเทียบเรือ โดยที่เจ้าหน้าที่ ก็มารออยู่แล้วที่บริเวณท่าเทียบเรือเพื่อจะทำการตรวจสอบเอกสาร แต่เมื่อไต๋เรือนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง แทนที่เจ้าหน้าที่จะห้ามปรามให้หยุดการขึ้นสัตว์น้ำไว้ก่อนเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับเอกสาร ในการตรวจ เพื่อให้ไต๋เรือทำให้ถูกต้องตามระเบียบ เสียก่อนแต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่กับสั่งจับกุมดำเนินคดี ตามกฎหมาย ทันทีทั้งๆที่ชาวประมงไม่มีเจตนากระทำความผิด
แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สนใจสั่งดำเนินคดีข้อหา ไม่ส่งเอกสารบันทึกสัตว์น้ำก่อน ขึ้นสัตว์น้ำ เป็นความผิดตามประกาศกรมประมง ที่ออกตามมาตรา81(3)ประกอบมาตรา114(3) มีโทษปรับตามมาตรา152วรรคสาม ปรับเรือประมงลำละ 500,000 บาทและสั่งยึดสัตว์น้ำ ตามมาตรา113(1) ทั้งๆที่สัตว์น้ำที่ได้มานั้นได้มาจากการทำประมงถูกกฎหมาย แต่ความผิดที่เกิดขึ้นเกิดความผิดพลาดจากงานธุรการ ซึ่งถูกกำหนดว่าเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา114(3) จึงถือว่าเป็นการกระทำร้ายแรงตามมาตรา113(1) แต่การสั่งยึดสัตว์น้ำต้องคำนึงถึงความร้ายแรง ตามมาตรา113วรรคสาม แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจกฎหมายจึงสั่งยึดสัตว์น้ำขายทอดตลาด(ชาวประมงไม่รู้กฎหมายจึงไม่ได้โต้แย้ง)ต้องสูญเสียสัตว์น้ำที่ไปจับถูกกฎหมาย มาได้โดยใช้เวลาทำการประมงนับ 10 วัน มูลค่า 5-7 แสนบาท ไปทั้งน้ำตา เท่านั้นยังไม่พอยังต้องถูกคำสั่งทางปกครองสั่งพักใบอนุญาตอีกไม่น้อยกว่า 30 วัน เศร้าไหม “ชาวประมงไทย”
6.เหตุเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจากการที่ได้ข้อมูลจากชาวประมง จังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจังหวัดนครศรีธรรมราชจากการที่เรือประมงได้แจ้งเข้าท่าเทียบเรือประมงหนึ่ง ในแม่น้ำนครศรีธรรมราช ตามมาตรา81(3) โดยได้ออกไปทำการประมงมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในช่วงเข้าฝั่งลูกเรือประมงที่เป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม เกิดเสียชีวิตกระทันหันครอบครัวลูกเรือขอให้ไต๋เรือนำเรือประมงมาจอดท่าเทียบเรือฝั่งตรงข้ามเพื่อจะรีบนำศพไปฝังตามประเพณีของศาสนาอิสลามไต๋เรือจึงนำเรือข้ามไปจอดท่าเทียบเรือฝั่งตรงข้ามกับท่าเทียบเรือที่แจ้งเข้า เพื่อจะส่งศพลูกเรือไปฝังตามประเพณี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจเรือประมงมาถึงท่าเทียบเรือประมงที่ชาวประมงแจ้งเข้าไม่พบเรือประมงดังกล่าว แต่กับเห็นว่าเรือประมงที่แจ้งเข้าจอดอยู่ฝั่งตรงข้ามจึงเรียกเรือประมงให้ข้ามกลับมาจอดยังท่าเทียบเรือประมงที่แจ้งเข้าเอาไว้ และเจ้าหน้าที่ก็ได้สั่งให้ดำเนินคดี กับชาวประมงในข้อหา นำเรือประมงเข้าจอดท่าเทียบเรือไม่ตรงกับที่แจ้งเข้า ไม่แน่ใจว่าโดนปรับเท่าไหร่ ข่าวว่าปรับ 1-2 แสนบาท
7.เหตุเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากในช่วงการขอใบอนุญาตปี2561-2562 ชาวประมงเพชรบุรี ที่มีใบอนุญาตทำการประมงประเภทอวนติดตาแต่เรือประมงเป็นเรือประเภทอวนลาก จึงไม่ได้ออกทำการประมงมาตลอด3ปีตั้งแต่ปี2558-2560โดยได้ติดระบบVMSมาตลอดเวลา3ปี และเปิดสัญญานVMSตลอดเวลา แต่ไม่ได้ออกทำการประมง เพราะใบอนุญาตไม่ตรงกับประเภทเรือ แต่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตเอาไว้ เพราะต้องการรักษาสิทธิในการขายเรือประมงคืนให้กับภาครัฐ ตามที่กรมประมงแจ้งเอาไว้ว่าเรือประมงที่มีใบอนุญาต ให้แจ้งความประสงค์จะขายเรือประมงคืนให้กับรัฐผ่านสมาคมท้องถิ่นและส่งเรื่องให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเพื่อรวบรวมจำนวนทั้ง 22 จังหวัด
แต่กับเกิดปัญหาว่าเนื่องจากเมื่อได้ใบอนุญาตทำการประมงแล้ว จะต้องเปลี่ยนแปลงรหัสข้างเรือตามใบอนุญาตทำการประมงใบใหม่ ภายใน 60 วันตามประกาศกรมประมงที่ประกาศตามมาตรา81(4) แต่เนื่องจากช่างพ่นสี รหัสข้างเรือมีน้อยชาวประมงลำนี้เห็นว่าเรือของตนไม่ได้ออกทำการประมงจึงไม่ได้รีบเปลี่ยนรหัสข้างเรือโดยเสียสละให้ช่างพ่นสีให้กับเรือประมงลำอื่นๆที่เขาต้องการออกทำการประมงก่อนส่วนเรือประมงของตนไม่ได้ออกค่อยมาพ่นสีเปลี่ยนรหัสในภายหลังก็ได้ ด้วยความที่ไม่รู้กฎหมายว่าจะต้องเปลี่ยนรหัสภายใน 60 วัน ทำให้เลยระยะเวลาที่กรมประมงประกาศกำหนด 60วัน พอดีมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานลงเรือมาตรวจสอบรหัสข้างเรือประมง พบว่าเรือประมงลำดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนรหัสข้างเรือตามกำหนดเวลา 60 วัน แทนที่จะสั่งให้รีบดำเนินการแก้ไข เพราะชาวประมงไม่ได้เจตนาจะไม่ปฏิบัติด้วยเรือประมงก็ไม่ได้ออกทำการประมงอยู่แล้วเปิดสัญญาณVMSตลอดเวลา โดยเอาเอกสารให้เจ้าหน้าที่ดูแต่เจ้าหน้าที่กับใช้อำนาจสั่งดำเนินคดีกับชาวประมงว่ากระทำความผิดตามมาตรา81(4)ประกอบมาตรา114(3) มีโทษปรับตามมาตรา151วรรคสาม ปรับ 1 ล้านบาทเป็นต้น
นายมงคล กล่าวในตอนท้ายว่า ความผิดลักษณะแบบนี้มีโทษขนาดนี้ ชาวประมงประเทศไหนจะสู้ไหว มีเรือประมงเป็น 100 ลำ ที่กระทำผิดในลักษณะแบบนี้เพราะเรือประมงที่ไม่ได้ออกทำการประมงไม่ได้เร่งรีบที่จะแก้ไขรหัสเพราะช่างพ่นสีมีน้อยจึงเสียสละให้เรือประมงที่ต้องออกทำการประมงพ่นสีเปลี่ยนแปลงรหัสไปก่อนโชคดีที่เกิดเหตุดำเนินคดีเรือประมงลำนี้ก่อนเรือประมงอีกเป็นร้อยๆ ลำ ในจังหวัดอื่นๆ รีบดำเนินการเปลี่ยนรหัสข้างเรือกันยกใหญ่ขวัญหนีดีฟ่อกันหมด จากเหตุการที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นว่ากฎหมายควรที่จะต้องมีการแก้ไขใหม่ทั้งหมดโดยมีชาวประมงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันที่จะออกกฎหมายให้เป็นธรรม และที่ร้ายแรงที่สุดอาจจะทำให้ไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางทะเลและเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ กรณีเรือประมงนอกน่านน้ำ ทำไมไทยต้องเสียค่าสัมปทานเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่สุดท้ายก็มีเรือไม่กี่ลำที่ออกไปทำการประมงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ประมง” สั่งชะลอเดินเท้าบุกทำเนียบ (มีคลิป)