นักวิชาการ จับตา “ไบเดน” ผงาดผู้นำสหรัฐฯ ก่อ “สงครามคาร์บอน” บังคับคู่ค้าติดฉลาก-เก็บภาษีคาร์บอน เปิดปมใหม่ใช้กีดกันการค้า สรท.จี้เอกชนไทยเตรียมรับมือ ประธานสภาอุตฯฟันธงสหรัฐฯคัมแบ็กร่วม CPTPP กมธ.เตรียมชงรัฐบาลลุงตู่ตัดสินใจร่วม-ไม่ร่วม
ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลอย่างไม่เป็นทางการ “โจ ไบเดน”คาดจะได้เป็นผู้นำคนใหม่ หลายฝ่ายคาดหวังสงครามการค้ากับจีนที่ดำเนินมาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์จะผ่อนคลายลง แต่มีแนวโน้มจะร่วมมือกับพันธมิตรเช่นยุโรป เพื่อกดดันจีนในการทำสงครามเทคโนโลยี (เทควอร์) มากขึ้น และอีกสงครามหนึ่งที่นักวิชาการคาดว่าจะเกิดหากไบเดนได้เป็นผู้นำสหรัฐฯคนใหม่คือ สงครามคาร์บอน (คาร์บอนวอร์) ซึ่งเปรียบเสมือน “หนีเสือปะจระเข้” และอาจส่งผลกระทบกับไทย
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากหนึ่งในนโยบายที่ไบเดนให้ความสำคัญคือ การลดภาวะโลกร้อน และประกาศจะนำสหรัฐฯกลับเข้าร่วมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Accords) หรือความตกลงลดสภาวะโลกร้อน (ที่สมัยทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญ และถอนตัวออกมา) โดยมีแผนจัดประชุมผู้นำประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศเพื่อกำหนดเป้าหมายอย่างจริงจังมากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน
“ที่น่าจับตามอง คือเวลานี้ห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯได้เป็นผู้ขับเคลื่อน กำหนดให้สินค้านำเข้าไปจำหน่ายต้องติดฉลากคาร์บอน (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบรายละเอียดว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์นั้นสู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดอายุการใช้งานมีปริมาณเท่าใด โดยการให้ติดฉลากส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องเขียน เสื้อผ้า และเครื่องนอนต่างๆ เพื่อผู้บริโภคได้ตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ซึ่งหากไบเดนมาอาจออกเป็นนโยบายบังคับให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยึดถือปฏิบัติในการบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน”
เก็บภาษีเพิ่มต้นทุน
นอกจากนี้ต้องจับตามองสหรัฐฯในยุคไบเดนอาจมีการเก็บภาษีคาร์บอน(Carbon Tariffs) สำหรับสินค้านำเข้า ซึ่งใน 2 เรื่องนี้แม้จะมีเป้าหมายเพื่อลดโลกร้อน แต่อีกมุมหนึ่งอาจกลายเป็นประเด็นใช้กีดกันการค้า ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนและทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นกระทบความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่เวลานี้หลายประเทศในยุโรปมีกระแสจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันคาร์บอน (เอกชนฝรั่งเศสเคยเสนอรัฐบาลให้เก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้เรียกเก็บ) และในงานวิจัยยังเรียกร้องให้เก็บภาษีถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในอนาคต ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ประเทศสามารถทำได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ผูกพันไว้ในความตกลงของ WTO จากทิศทางแนวโน้มดังกล่าวส่งสัญญาณให้เห็นว่าสงครามคาร์บอน หรือคาร์บอนวอร์อาจเกิดขึ้นในยุคของไบเดน
จี้เอกชนไทยรับมือ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า เรื่องฉลากคาร์บอนหรือคาร์บอนฟุตพริ๊นปริ้นท์นี้ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่ได้บังคับต้องติดฉลาก แต่ก็มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าหลายรายของไทยได้เริ่มดำเนินการโดยให้หน่วยงานรับรองระหว่างประเทศมาตรวจวัดการปล่อยก๊าซและให้การรับรองฉลาก เพื่อสร้างเลือกให้กับผู้บริโภค ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้หากสหรัฐฯ ในยุคไบเดนบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน และมีการเก็บภาษีคาร์บอนจะกระทบต้นทุนผู้ส่งออกแน่นอน แต่อีกด้านหากสหรัฐฯบังคับให้สินค้าจากทุกประเทศรวมถึงสินค้าที่ผลิตในสหรัฐถือปฏิบัติต้องติดฉลากคาร์บอนเช่นเดียวกันก็คงไม่เสียเปรียบกันมาก ขึ้นกับต้นทุน และราคาใครต่ำกว่าก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน
“เวลานี้มีหลายสินค้าของไทยที่มีการติดฉลากคาร์บอนในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากๆ เช่นสินค้าเกษตร เช่น น้ำตาล รวมถึงสินค้าด้านปศุสัตว์ เป็นต้น”
เร่งรัฐตัดสินใจ CPTPP
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนต่างก็มีนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก หากไบเดนมาเชื่อว่าสหรัฐฯ จะกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) แน่นอน ทั้งนี้เพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้ ดังนั้นไทยต้องเข้าไปเจรจาใน CPTPP ซึ่งแน่นอนว่าความตกลงย่อมส่งผลทั้งทางบวกและทางลบ แต่หากไทยอยู่เฉยๆ ก็จะได้รับผลด้านลบอย่างเดียว
นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กล่าวว่า ผลการพิจารณาศึกษาขณะนี้เสร็จแล้ว และได้บรรจุในวาระการประชุมเพื่อรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และวันนี้ (5 พ.ย.63 เวลา 16.10 น.) ตนและทีมงานได้เตรียมรายงานผลต่อสภา แต่หากไม่ทันก็ จะเป็นพุธหน้า ทั้งนี้หากได้รายงานและเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้อภิปรายและลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว จะได้ส่งรายงานสรุปที่จะมีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่ยังเป็นข้อกังวลแล ะจุดอ่อนของไทย ส่วนการตัดสินใจจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่อยู่ที่รัฐบาล แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ช้าก็เร็วไทยคงต้องเข้าร่วม เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบคู่แข่งขันมาก
ที่มา:จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 1 ฉบับที่ 3625 วันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2563