"ปตท.” มุ่งธุรกิจ “EV” พร้อมลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่และรถยนต์ไฟฟ้า

09 พ.ย. 2563 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2563 | 02:22 น.

“ปตท.” จ่อลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า หวังดันการใช้ และตั้งไทยเป็นฮับการผลิต

นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.” (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างการวางแผนเริ่มศึกษาในภาคอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี (EV) นอกเหนือจากการเดินหน้าทำสถานีประจุไฟฟ้า (ชาร์จจิ้ง สเตชั่น) โดยต้องติดตามปริมาณการใช้รถอีวีในอนาคตว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน

ทั้งนี้  ยังเตรียมจะศึกษาระบบกักเก็บพลังงาน หรือเอนเนอร์ยี่ สตอเรจ โดยให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน)หรือจีพีเอสซี (GPSC) ดำเนินการศึกษาทั้งแนวโน้นตลาดและแนวทางการดำเนินงาน  นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะเข้าร่วมผลิตรถอีวี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย กระตุ้นให้เกิดการใช้และการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์สันดาป และเป็นฐานการผลิตอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว

สำหรับการเข้าร่วมการผลิตรถอีวีนั้นจะใช้ปัจจัยส่วนนี้เพื่อผลักดันประเทศให้ไปสู่ศูนย์การผลิตได้ง่าย โดยอยู่ระหว่างพิจารณาที่ต้องดูความชัดเจนของนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันยังมีแต่เอกชนที่ทำการนำเข้าเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

\"ปตท.” มุ่งธุรกิจ “EV” พร้อมลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่และรถยนต์ไฟฟ้า

“ทิศทางความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกคาดว่าจะลดลงในช่วงปี 2573 หรือในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่ ปตท. ยังมองว่าภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันในประเทศยังมีอยู่ โดยคาดว่ายังมีความต้องการใช้ต่อเนื่องไปอีกหลังจากปี 73 ซึ่งยอมรับว่าที่สถานการณ์การใช้น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากในอนาคตจะมีการใช้อีวีเพิ่มมากขึ้น เพราะราคาจะเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญมากขึ้น”
 

นางอรวดี กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้น  สืบเนื่องมาจากการที่ ปตท.ตั้งเป้าใช้งบประมาณลงทุนเบื้องต้นในปี 64 มากกว่าระดับปกติที่มีการลงทุนประมาณปีละ 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อหาโอกาสในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง และมีแนวโน้มเติบโต เช่น การเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการโรงงานผลิตยาในต่างประเทศ โซนเอเชีย คาดว่าจะสรุปได้ในปี 64

ขณะเดียวกัน ยังเตรียมเดินหน้าลงทุนในธุรกิจใหม่(นิว เอ็นเนอจี) จากปัจจุบันที่ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง กับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งจะครอบคลุมในธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น เช่น การขนส่งโลจิสติกส์  สุขภาพ-อนามัย ดิจิทัลแพลตฟอร์ม สมาร์ทแพลตฟอร์ม ซึ่งจะต้องมีการทำร่วมกับพาทเนอร์เพื่อให้เกิดศักยภาพการลงทุนที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ จะลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น กริด เน็ตเวิร์ค รวมถึงธุรกิจ EV และโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อต่อยอดตั้งโรงงานรถอีวีในอนาคตด้วย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างหาผู้รับเหมาก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่(แห่งที่ 7) ในประเทศ เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 1 คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท  โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 64 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 66