ชาวบ้านรุม ต้าน 7 โปรเจ็กต์ยักษ์ ส่อสะดุดยาว!

12 พ.ย. 2563 | 04:07 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2563 | 07:50 น.

ชาวบ้าน-สถาบันการศึกษา ค้านแหลก 7 โปรเจ็กต์ยักษ์ระสํ่า รถไฟฟ้า -ด่วนขั้น3- ย้ายสถานีขนส่ง สายใต้-หมอชิต เวนคืนตัดทางยกระดับ เชื่อม บางกอกเทอร์มินัลทะลุ พหลโยธิน-วิภาวดีฯ คาดส่อลากยาว เหตุถูกไล่ที่ จราจรติดขัด คมนาคมยันเดินหน้าตามแผนโครงการ

 

ยังคงระส่ำหนัก สำหรับโครงการลงทุนสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ ที่มีเสียงคัดค้าน ฟ้องร้องศาลและอาจนำมาซึ่งความล่าช้า ในการก่อสร้าง ไม่เป็นไปตามแผน ประมาณ 7 โครงการ สุดท้ายผลกระทบที่ตามมาคือ ประชาชน ผู้ใช้บริการ เริ่มจาก ปมร้อนการแก้เกณฑ์ ประมูลโครงการร้อนสายสีส้ม(บางขุนนนท์-มีนบุรี ) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท ที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยึดมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เปิดให้เอกชนยื่นซองวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่จะถึง ท่ามกลาง เสียงคัดค้านและการรอคำสั่งชี้ขาด

จากศาลปกครองสูงสุด ว่าจะยืนตาม คำสั่งศาลปกครองกลางให้ทุเลา การใช้เกณฑ์ประมูลใหม่หรือไม่อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า ความล่าช้า ย่อมเกิดขึ้นจากการช่วงชิง เค้กก้อนโต สำหรับรถไฟฟ้าเส้นนี้ เช่นเดียวกับ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท ตามแผนเตรียมเปิดขั้นตอนการประมูล เดือนกุมภาพันธ์ 2564

ล่าสุดได้มีเสียงคัดค้านรุนแรงจาก ประชาชนในพื้นที่ ว่าไม่เอาสายสีม่วงใต้ โดยเฉพาะบริเวณ สถานีสามยอด ซึ่งจะเป็นจุดตัดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงใต้ โดยประชาชนอ้างว่า ได้รับผลกระทบซ้ำซาก จากการเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปแล้วครั้งหนึ่ง และยังไม่ได้รับเงินชดเชย ในเวลาต่อมากำลังถูกไล่รื้อจากโครงการสายสีม่วง เพื่อนำที่ดินไปก่อสร้างสถานี แม้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็ตาม

               

 

 

ขณะการเตรียมความพร้อม รฟม.อยู่ระหว่างเจรจา ต่อรอง และรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคาะพระราชกฤษฎีกา (พรฎ) เวนคืนที่ดิน เช่นเดียวกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-บึงกุ่ม ) ที่รัฐพยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างควบคู่ไปกับโครงการทางพิเศษ หรือทางด่วน ขั้น 3 ตอน N1 แต่โครงการทางด่วนกลับล้มไม่เป็นท่า เนื่องจาก ผลการเจรจา ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่บรรลุข้อตกลงตามที่เคยเจรจาไว้หรือไม่ให้ทางด่วนผ่านพื้นที่ มหาวิทยาลัย แน่นอนว่า แม้กทพ.จะปรับแนวเส้นทางใหม่ ต้องยอมรับว่า โครงการต้องล่าช้าออกไปจากแผนโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลทั้งนี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า รฟม.พยายามเร่งรัดทุกโครงการ ให้เดินได้ตามแผน ทั้งสายสีส้ม สายสีม่วงใต้ รวมถึงสายสีน้ำตาล

               

 

 

ขณะ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่า ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากกทพ.ในการขอแก้มติคจร.เพื่อดำเนินการก่อสร้างช่วงทดแทน N2 หากเรื่องมาถึงแล้วจะรีบดำเนินการเสนอต่อคจร.พิจารณาให้เร็วที่สุด ซึ่งการแก้มติคจร.ในครั้งนี้เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากรายละเอียดอยู่ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าช่วงทดแทน N2 ยังติดปัญหากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ตาม คาดว่าจะนำเสนอเข้าคจร.ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

นอกจาก รถไฟฟ้า และทางด่วน ใหม่แล้ว ยังพบว่า ชาวบ้าน ชุมชนหลังหมอชิตเก่า และชุมชนวิภาวดีรังสิตซอย 5 คัดค้านการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ บริเวณถนนกำแพงเพชร กลับมายังหมอชิตเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการบางกอกเทอร์มินอล โดยสะท้อน ถึงกระทรวงคมนาคม ว่า อาจสร้างความแออัดคับคั่ง ต่อชุมชนตลอดจน ปริมาณการจราจรบนถนนพหลโยธินต่อเนื่องไปยังถนนวิภาวดีรังสิต อีกทั้ง ชาวชุมชนได้รับผลกระทบจากรุงเทพ มหานคร ออกพรฎเวนคืน ซอยวิภาวดี 5 สร้างทางยกระดับ เป็นทางเข้าออกลงในโครงการบางกอกเทอร์มินอลทะลุ ออกไปยังวิภาวดี เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นทางออกให้กับรถบขส.ที่จะย้ายกลับมาเช่นเดียวกับการคัดค้านของชาวบ้านต่อกรณีย้าย สถานีขนส่งสายใต้ใหม่บริเวณถนนบรมราชชนนี กลับมายังที่เดิมคือ สถานีขนส่งผู้โดยสารย่าน ปิ่นเกล้า


หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3626