CPTPP “ไบเดน” มาแน่ ไทย จะเอาอย่างไร

13 พ.ย. 2563 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2563 | 05:26 น.

20 ม.ค.โลกมั่นใจ “ไบเดน” จะนั่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนล่าสุด “สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย” ส่งสัญญาณรัฐไทยเร่งศึกษานโยบาย ชี้เป้า CPTPP มาแน่ จะเอาอย่างไร

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนั้นคงสร้างความไม่สบายใจและกังวลว่าจะมีผลกระทบกับการค้าการลงทุนในไทยหรือไม่?  ผมมีความเห็นว่าปัญหานี้คงเพียงระยะสั้นและในที่สุดนายไบเดนก็จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ 

 

1. ณ เวลานี้ประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่ามีการโกงการเลือกตั้งในพื้นที่ที่นายไบเดนชนะได้ (ส่วนใหญ่เป็นรัฐที่ประธานาธิบดีคาดว่าจะชนะแน่นอนเช่น Pennsylvania, Michigan ฯลฯ หรือที่เรียกว่า swing states)

 

2. การนับคะแนนเลือกตั้งที่เหลือนั้นนายไบเดนยังได้คะแนนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทิ้งห่างประธานาธิบดีทรัมป์ ตัวเลขนี้มีความสำคัญเพราะจะเป็นหลักฐานให้เห็นว่าถึงแม้จะมีคะแนนที่ผิดพลาดหรือหากว่ามีการสั่งให้นับคะแนนใหม่ในบางรัฐ  มันก็ไม่สามารถจะพลิกคะแนนให้ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาชนะได้ (มีประวัติว่าคะแนนใหม่ที่นับนั้นจะคาดเคลื่อนในระดับพันคะแนนเท่านั้น)

 

 

3. คะแนนที่นายไบเดนได้รับจากประชาชนทั่วประเทศ (Popular Votes) มีจำนวนเกินประธานาธิบดีทรัมป์ถึง 6 ล้าน แม้ว่าตัวเลขนี้จะไม่ใช้ในการตัดสินการแพ้หรือชนะเลือกตั้งแต่ก็แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้นายไบเดนเป็นประธานาธิบดี ผมเชื่อว่าหากคะแนน Popular Votes ออกมาในทางตรงกันข้ามแล้วประธานาธิบดีทรัมป์ก็จะต้องอ้างความชอบธรรมนี้เช่นกัน หากผลออกมาเป็นอย่างที่ผมคาดแล้วผมเห็นว่าเราควรศึกษานโยบายหลักของนายไบเดนคือ  การแก้ไขการระบาดของโรคโควิดซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจตามมา พ่วงการกลับเข้าร่วมข้อตกลงลดภาวะโลกร้อน (Paris Agreement) พร้อมกำหนดนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ (Green New Deal) ซึ่งจะกระทบกับตลาดนำเข้าสินค้าอย่างแน่นอน เราจึงต้องติดตามใกล้ชิด แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถส่งสินค้าประเภทเนื้อไก่ สุกร เข้าประเทศสหรัฐแต่เรามีการส่งออกกุ้งไปเป็นจำนวนมาก

 

CPTPP “ไบเดน” มาแน่ ไทย จะเอาอย่างไร

“ผมเชื่อว่าเราคุ้นชินกันเรื่องนี้พอสมควรและเราได้เตรียมตัวมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น เรื่องการร่วมแก้ไขการ เผาป่า การปลูกข้าวโพดที่ไม่ยั่งยืน (โครงการที่น่าน) การร่วมกับอีก 7 สมาคมศึกษาเพื่อแก้ไขการจับปลาที่ไม่ยั่งยืนในอ่าวไทยและอันดามัน(ที่เราเรียกว่าโครงการ  Fishery Improvement Program หรือ FIP) ซึ่งได้ผ่านการรับรองในรอบแรกแล้ว เรากำลังทำงานกับหน่วยงานให้ทุนของรัฐเพื่อจัดทำงบประมาณในการดำเนินการในขั้นสองต่อไป ฯลฯ ดังนั้นเราคงต้องเร่งพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าต้นทางให้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคการผลิตอื่นในห่วงโซ่ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

 

นายพรศิลป์ กล่าวว่า ไบเดนจะกลับเข้าเจรจา CPTPP จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาใหม่ ด้วยสองเหตุผลคือ 1.ข้อตกลงนี้ (TPP เดิม) เป็นกลยุทธของประธานาธิบดี Obama ที่จะโดดเดี่ยวจีนในด้านเศรษฐกิจ และ 2. ขณะเดียวกันนายไบเดนก็คงต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งในการจัดระเบียบการค้ากับจีนด้วย ผมเห็นว่าสหรัฐคงจะมีการทำข้อตกลงสองฝ่ายกับจีนต่างหากอีกหนึ่งฉบับ เราจึงต้องกลับมาคิดกันใหม่อีกว่าไทยจะเข้า TPP ใหม่นี้หรือไม่ แต่เนื่องจากวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ที่ “ได้และเสียอะไร?”ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ ผมจึงเดาได้ว่าไทยก็ยังจะอยู่ที่เดิม

 

“สิ่งที่ผมอยากจะชวนกันคิดว่าข้อตกลงการค้าหรือ สิ่งแวดล้อม หรือ แรงงาน ฯลฯ เป็น “เครื่องมือในการพัฒนาประเทศ” ตราบใดที่พวกเรา(รัฐ เอ็นจีโอ เอกชนบางราย) ยังเปลี่ยนวิธีคิดไม่ได้ เราก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้า TPP หรือ ข้อตกลงอื่นๆได้เลย หรือแม้จะเข้าไปเป็นภาคีแล้วเราก็ไม่พัฒนาอยู่นั่นเอง เพื่อให้แน่ใจและชัดเจนเรายังต้องรอผลสรุปของการเลือกตั้งในสหรัฐต่อไปอีกสักพักแต่จะไม่เกินวันที่ 20 มกราคม 2564 เพราะเมื่อถึงวันนั้นทางสหรัฐจะต้องมีประธานาธิบดีท่านใหม่เพราะเป็นวันที่ๆกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีการสาบานตนของผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ