ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร “ประกันราคาข้าว” วุ่นงบไม่พอ จ่อขอครม.เพิ่ม

19 พ.ย. 2563 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2563 | 10:51 น.

ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกร 3 หน่วยงานรัฐประเมิน “ประกันราคาข้าว” งบ 1.9 หมื่นล้านที่ครม.อนุมัติให้จ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าว ไม่เพียงพอ เร่งขอเพิ่ม

19 พฤศจิกายน 2563 ความคืบหน้า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 (รอบที่ 1) หรือ "ประกันราคาข้าว" หลังจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ทยอยจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวรอบที่ 1 งวดที่แรก ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีคุณสมบัติถูกต้องไปแล้วกว่า 871,000 ราย วงเงินกว่า 9,200 ล้านบาท สามารถตรวจสอบตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกรที่ chongkho.inbaac.com หรือ คลิกที่นี่

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ได้หารือร่วมกันถึงการจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ ชาวนา ในงวดที่เหลือพบว่างบประมาณที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้ดำเนินโครงการภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 18,096 ล้านบาทนั้นไม่เพียงพอที่จะนำไปจ่ายให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินประกันราคาข้าวอีกกว่า 3 ล้านราย

 

“ถ้าประเมินจากยอดเงินที่ธ.ก.ส.จ่ายเงินประกันราคาข้าวให้เกษตรกรในงวดแรก 8.7 แสนราย งบประมาณ 9.2 พันล้านบาท แล้วงบประมาณที่ครม.อนุมัติมาให้ 18,096 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการประกันรายได้ข้าวคงไม่เพียงพอ กระทรวงพาณิชย์ จึงจำเป็นจะต้องเสนอให้ที่ประชุมครม.อนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม เพื่อให้ธ.ก.ส. นำไปจ่ายส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวกับราคาข้าวอ้างอิงให้ครบ 4.5 ล้านรายตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนจะขยายเพิ่มอีกเท่าไหร่อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลข”แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ

 

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกํากับดูแลและกําหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ออกประกาศเรื่องการกําหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง และการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 (งวดที่ 2) เพื่อให้ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มเติมอีกกว่า 1.5 ล้านราย ซึ่งตามกำหนดธ.ก.ส.จะต้องทยอยจ่ายเงินภายใน 3 วันทำการ ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นี้

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวให้เกษตรกรในงวดที่ 2 มีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิมีจำนวนมากถึง 1.5 ล้านราย ธ.ก.ส.จึงจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการกรอกข้อมูลเกษตรกร จึงยังไม่สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรได้

สำหรับประกาศเรื่องการกําหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง และการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 (งวดที่ 2) กำหนดการจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวงวดที่ 2 ดังนี้

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ต้นละ 2,996.97 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,272.96 บาท
  • ข้าวเปลือกเจ้าต้นละ 1,119.18 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,060.16 บาท
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 1,311.01 บาท

 

เมื่อคำนวนจากหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว กำหนดราคาประกันข้าว 5 ชนิด ที่กำหนดไว้ ว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

 

เกษตรกรที่จะได้รับการจ่ายเงินส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวงวดที่ 2 แยกตามชนิดข้าวและวงเงินสูงสุด ดังนี้

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ เงินชดเชยส่วนต่าง 2,996.97 บาทต่อตัน ได้รับเงินชดเชยสูงสุด 41,957.58 บาทต่อราย จำนวนเกษตรกร 788,681 ราย
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เงินชดเชยส่วนต่าง 2,272.96 บาทต่อตัน ได้รับเงินชดเชยสูงสุด  36,367.3 9 ต่อราย จำนวนเกษตรกร 105,590 ราย
  • ข้าวเปลือกเจ้า ได้เงินชดเชยส่วนต่าง 1,119.18 บาทต่อตัน รับเงินชดเชยสูงสุด 33,575.4 ต่อราย จำนวนเกษตรกร 62,929 ราย
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ได้เงินชดเชยส่วนต่าง 1,060.16 บาทต่อตัน รับเงินชดเชยสูงสุด 26,504 ต่อราย จำนวนเกษตรกร 9,204 ราย
  • ข้าวเปลือกเหนียว ได้เงินชดเชยส่วนต่าง 1,311.01 บาทต่อตัน รับเงินชดเชยสูงสุด 20,976.16 ต่อราย จำนวนเกษตรกร 580,307 ราย