FDI ไทย ‘ไร้แต้มต่อ’ จับตาปี 64 ยังขาลง

20 พ.ย. 2563 | 03:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2563 | 11:23 น.

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทยยังน่าห่วง หลัง 9 เดือนแรกปีนี้ตัวเลขยังติดลบทั้งในแง่จำนวนโครงการ และเม็ดเงินลงทุน อ่านจากบทวิเคราะห์ดังนี้

ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ในไทยช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 657 โครงการ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% จากโครงการส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ชะลอตัวลงทั่วโลกจากผลกระทบโควิด-19

 

ภาพรวม FDI ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ทุนจากญี่ปุ่นยังครองอันดับ 1 ขอรับการส่งเสริมมากสุด 139 โครงการ เงินลงทุน 37,545 ล้านบาท ตามด้วยจีน 129 โครงการ เงินลงทุน 21,237 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นคำขอลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากสุด 240 โครงการ (สัดส่วน 37% ของโครงการทั้งหมด) และเงินลงทุน 63,925 ล้านบาท (สัดส่วน 54% ของเงินลงทุนทั้งหมด)

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อมูลกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19ที่ทำให้นักลงทุนรายใหม่ ๆ ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้โดยสะดวก ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในปีนี้ส่วนใหญ่กว่า 84% ของมูลค่า FDI เป็นการขยายการลงทุนของบริษัทเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วในประเทศไทย ขณะที่การลงทุนของบริษัทใหม่มีเพียง 16% จากปกติสัดส่วนของโครงการขยายและโครงการใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 60 : 40 อย่างไรก็ตามจากนี้ไปมองว่าจากที่รัฐบาลมีแนวโน้มผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางเข้า-ออกประเทศของกลุ่มนักธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ประเทศปลายทางในโซนเอเชียหลายประเทศที่เป็นผู้ลงทุนหลักในไทยก็เริ่มผ่อนคลายเช่นเดียวกัน จึงเชื่อว่าจะได้เห็นการลงทุนรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บีโอไอฟื้นกิจการยานพาหนะไฟฟ้า รอบใหม่

บีโอไอเผยคำขอส่งเสริม 9 เดือน 2.23 แสนล้าน 

โควิดฉุดยอดการลงทุนในอีอีซี บีโอไอ เผยยอดขอส่งเสริม 9 เดือน ลดลง 5.85 หมื่นล้าน

 

FDI ไทย ‘ไร้แต้มต่อ’  จับตาปี 64 ยังขาลง

 

นอกจากนี้มาตรการต่าง ๆ ที่บีโอไอออกมาในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ ครอบคลุมทุกประเภททั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า รวมทั้งกิจการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร กิจการวิจัยทางคลินิก กิจการศูนย์จัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนระหว่างประเทศ และมาตรการกระตุ้นการลงทุนต่างๆ จะช่วยดึงดูดโครงการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจใหม่ ๆ มากขึ้น

 

บีโอไอยอมรับว่า กรณีที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดนจะกลับมาให้ความสำคัญและอาจกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP อีกครั้ง ซึ่งหากเป็นดังคาดการณ์จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการค้าและการลงทุนของโลก รวมถึงทิศทางการลงทุนของต่างชาติในไทย

 

 ดังนั้นแม้ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP / อาร์เซ็ป) ที่ถือเป็นกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ 15 ชาติสมาชิก (อาเซียน 10 ประเทศบวก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ได้ลงนามความตกลงกันแล้วในการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งล่าสุด และคาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปีหน้าแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลไทยคงต้องมีความชัดเจนในเรื่องการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ด้วยเพราะการที่คู่แข่งขันในอาเซียน ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่ล้วนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติได้

 

FDI ไทย ‘ไร้แต้มต่อ’  จับตาปี 64 ยังขาลง

สอดคล้องกับความเห็นของภาคธุรกิจเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าต่างๆ มองว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลไทยจะเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ แรงงานฝีมือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน และอื่นๆ เพื่อรองรับการลงทุนของต่างชาติ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยขาดแต้มต่อที่จูงใจให้ต่างชาติมาลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งไม่มีกรอบการค้าเสรี (FTA) ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้นักลงทุนได้สิทธิประโยชน์จากประเทศคู่ค้าเพิ่มเติม ทั้งด้านภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0% หรือในอัตราตํ่า รวมการอำนวยความสะดวกระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนมีแต้มต่อในการขยายการค้า การลงทุนในไทยมากขึ้น

 

FDI ไทย ‘ไร้แต้มต่อ’  จับตาปี 64 ยังขาลง

 

ปัจจุบันไทยจัดทำเอฟทีเอแล้ว 14 ฉบับ (รวม RCEP แล้ว) กับ 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนามคู่แข่งขันสำคัญมีเอฟทีเอแล้ว 14 ฉบับ (เท่ากับไทย) แต่มีคู่สัญญาถึง 53 ประเทศ ทำให้เวลานี้ทุน FDI ได้มุ่งไปยังเวียดนามแซงหน้าไทยไปหลายขุม (10 เดือนแรกปี 2563 FDI ใหม่ขอรับการส่งเสริมในเวียดนาม 2,100 โครงการ เงินทุนจดทะเบียน 11,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 361,460 ล้านบาท มากกว่าไทย 2 เท่าตัว) เพราะลงทุนแล้วได้ประโยชน์จากเอฟทีเอมากกว่าไทย

 

จะเห็นได้ว่านอกจากแต้มต่อด้านเอฟทีเอที่ไทยมีน้อยกว่าเวียดนาม จากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังไม่สงบจากม็อบที่ยืดเยื้อ ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และจากโควิดที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังเดินทางเข้าไทยเพื่อดูสถานที่จริงก่อนตัดสินใจในการลงทุนไม่สะดวก ไม่นับรวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างๆ เช่น จีเอสพีที่ไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดการณ์ได้ว่า FDI ไทยในปีนี้และปีหน้าจะยังเป็นช่วงขาลง

 

จากหนังสือพิมพ์.ฐานเศรษฐกิจ  หน้า 8 ฉบับที่ 3,629 วันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563