“ส.อ.ท.” ผนึก “กระทรวงพลังงาน” กระตุ้นลงทุนพลังงานมุ่งอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

03 ธ.ค. 2563 | 06:05 น.

“ส.อ.ท.” ผนึก “กระทรวงพลังงาน” กระตุ้นการลงทุนด้านพลังงานมุ่งสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะแห่งอนาคต

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อการวางแผนจัดหาพลังงานในระยะยาว อีกทั้งความสามารถในการจัดหาแหล่งพลังงานฟอสซิลเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ ประเทศไทยจึงควรที่จะเร่งหันมาส่งเสริมในเรื่องของพลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดการพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์และขยายผลในวงกว้าง ลดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการระบบข้อมูลงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานให้เหมาะสม มีความทันสมัย ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประเทศ และช่วยเพิ่มศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์จริงให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงสนับสนุนทรัพยากร และพัฒนาการดำเนินงานด้านวิชาการ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

“ส.อ.ท.” ผนึก “กระทรวงพลังงาน” กระตุ้นลงทุนพลังงานมุ่งอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technology Disruption) ผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ "โควิด-19" (COVID-19) ส่งผลให้พฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิตไม่เหมือนเดิม ทำให้หลายภาคส่วนต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานจนกลายเป็นวิถีความปกติใหม่ (New Normal) ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเร่งเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิต


 

และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Big Data ตลอดจนการเชื่อมโยงอุปกรณ์และระบบต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นำไปสู่ Smart Industry อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการไทยจะก้าวไปข้างหน้าสู่ Smart Industry ได้นั้น ควรเร่งพัฒนาบุคลากรของเราให้สามารถจัดการกับ Disruptive Technology ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และเร่งเรียนรู้นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านหุ่นยนต์  ด้านระบบอัตโนมัติ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า หรือ "อีวี" (Electric Vehicle : EV) และด้านเทคโนโลยีของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ตลอดจนปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ที่ผู้บริโภคกลายเป็นศูนย์กลาง สามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้า การผลิต การขาย และทางเลือกแหล่งพลังงานของตนเองได้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (Prosumer)