บีทีเอส แจงยิบกรณีข่าวจ่อปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า158 บาทตลอดสาย

04 ธ.ค. 2563 | 02:27 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2563 | 08:18 น.

บีทีเอส ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีข่าวเตรียมปรับขึ้นราคาค่าโดยสารโดยสาร รถไฟฟ้าบีทีเอส 158 บาทตลอดสาย ยันไม่เป็นความจริง ยืนยันตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท ส่วนราคา158 เป็นราคาเดิมที่เคยศึกษาไว้

สืบเนื่องจากการที่สำนักข่าวออนไลน์บางแห่ง ได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวว่ “บีทีเอส เตรียมขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง  เป็นจำนวน 158 บาท” บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส  ขอชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อน และผิดพลาดจากข้อเท็จจริง  ดังนี้

บีทีเอส แจงยิบกรณีข่าวจ่อปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า158 บาทตลอดสาย

1.ปัจจุบันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ BTSC   ในเครือ  บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  เป็นผู้บริหารและรับรายได้ค่าโดยสารจากระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ในส่วนเส้นทางเดิมของสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร  ตามอายุสัญญา 30 ปี หรือ ตั้งแต่ ปี 2542-2572 ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจร และ ลดมลภาวะในเมืองใหญ่

อย่าง กรุงเทพมหานคร ประการสำคัญยังเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางในแต่ละพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชน กระทั่งนำมาสู่ความร่วมมือกับ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร สำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า

ส่วนต่อขยายจากเส้นทางเดิมของสัมปทาน  คือ  ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) รวมถึงส่วนต่อขยายเพิ่มเติมของสายสุขุมวิทจากแบริ่ง ไปเคหะ และจากหมอชิต ไปคูคต

2.ขณะที่การกำหนดราคาค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานเดิม รถไฟฟ้าบีทีเอส  ในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหารรถไฟฟ้า ระยะทาง 23.5 กม. เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารปัจจุบันในอัตรา  16 ถึง  44 บาท (ตามระยะทาง) 

ขณะที่ช่วงส่วนต่อขยายทั้งหมด (อ่อนนุช-สำโรง-เคหะฯ วงเวียนใหญ่-บางหว้า หมอชิต-วัดพระศรีฯ)  กรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดค่าโดยสาร 

บีทีเอส แจงยิบกรณีข่าวจ่อปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า158 บาทตลอดสาย

3.ข้อเท็จจริงสำคัญที่ผ่านมา  บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ  BTSC  ในฐานะผู้ลงทุนขบวนรถ ส่วน กทม. ในฐานะผู้ลงทุนงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล  ได้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต   จำนวน  59  สถานี รวมระยะทางถึง  68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด  

ได้แก่ ปทุมธานี , กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ  โดยมีความคืบหน้าพร้อมเปิดเป็นทางการครบทั้ง 59 สถานี  ในวันที่ 16  ธ.ค.2563 นี้ 

4. อีกหนึ่งข้อเท็จจริงเช่นกัน ประเด็นค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากเส้นทางเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต ยังคงเป็นการกำหนดโดยกรุงเทพมหานคร BTSC อยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เท่านั้น  และที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย 

 รวมถึงกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการทำให้ค่าโดยสารมีอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้นจาก 15 บาท และรวมตลอดเส้นทางอยู่ในระดับไม่เกิน 65 บาท   เพื่อไม่ให้เป็นภาระกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพมหานคร  จากค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมสูงสุดถึง 158 บาท  

จนนำมาสู่ การเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามเป้าหมายและแก้ไขปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของกรุงเทพมหานคร  ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและกระทรวงมหาดไทยและอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  

5.ทั้งนี้  บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ  BTSC ขอยืนยันในข้อเท็จจริงข้างต้น พร้อมย้ำอีกครั้งว่า ถึงแม้จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถส่วนต่อขยาย 

บีทีเอส แจงยิบกรณีข่าวจ่อปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า158 บาทตลอดสาย

จากหนี้คงค้างของกรุงเทพมหานครกว่า 8,000 ล้านบาท ทางบริษัทฯ ให้คำมั่นสัญญาจะรับผิดชอบให้บริการ การเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส  แก่ชาวกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล เป็นปกติเช่นเดิมจนถึงที่สุด รวมถึงยืนยันหลักการในความร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้แผนการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมระยะทาง  68.25 กม.   มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด จนกว่าจะมีความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.)