หลังบริษัทยางไทยปักษ์ใต้ หรือ “เต็กบี้ห้าง” ผู้ผลิตยางแท่งรายใหญ่ได้ถูกกลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน จากประสบปัญหาทางการเงิน ขณะที่สถานการณ์ราคายางในตลาดโลกที่ขึ้น ๆ ลงๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นสนามปราบเซียนที่ทั้งผู้ค้ายางรายใหญ่ กลาง และเล็กกว่า 200 ราย อาจล้มครืนหรือถูกเปลี่ยนมือเป็นของต่างชาติ โดยเฉพาะทุนจีนที่มีเงินมหาศาลไปได้ง่ายๆ หากผู้บริหารไม่มีฝีมือมากพอ หลายกระแสระบุเวลานี้บิ๊กวงการค้ายางไทยถูกทุนจีนไล่ซื้อกิจการ ความจริงเป็นเช่นไรนั้น
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อเท็จจริงในเวลานี้ในส่วนของผู้ค้ายางพารารายใหญ่ของไทย (ที่ถูกตั้งฉายา 5 เสือยางปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% จากอดีต 50-60%) ในส่วนของ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) มีทุนจีนเข้ามาถือหุ้น 60% ส่วน บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี ที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีกองทุน รวมถึงบริษัทไทยและต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเป็นเรื่องปกติหากเห็นว่าเป็นหุ้นที่มีกำไร แต่ไม่ได้เข้ามาบริหาร จึงยังเป็นบริษัทคนไทย
ส่วน บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป ที่ตนบริหารอยู่ ยังเป็นบริษัทคนไทย 99% ขณะที่บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด (บจก.) ยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับนักลงทุนต่างประเทศทั้งจากจีนและจากประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้ข้อสรุป และ บจก.เซาท์แลนด์ รับเบอร์ เท่าที่ทราบก็ยังเป็นบริษัทคนไทยยังไม่ได้ถูกเทคโอเวอร์แต่อย่างใด
วรเทพ วงศาสุทธิกุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็คเงิน "ประกันรายได้ยางพารา" ด่วน ธ.ก.ส. แจ้งโอนล็อตแรก วันนี้ กว่า 9 แสนราย
“ทุกบริษัทมีคนเข้ามาคุยบ่อยๆ ส่วนมากเป็นทุนจากจีน ไม่ว่าจะเป็นไทยรับเบอร์ฯ วงศ์บัณฑิต หรือเซาท์แลนด์ฯก็มีทุนจากจีนเข้ามาคุยทั้งหมด ถ้าคิดว่าเขาได้ประโยชน์ ซึ่งแต่ละรายจะว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องภายในของแต่ละบริษัทที่คงยังไม่เปิดเผยหากดีลยังไม่สำเร็จ หากเขาเข้ามาเอาเปรียบซื้อถูกๆ เพื่อเข้ามามีอำนาจบริหารแต่ละบริษัทก็คงไม่เอา”
ด้าน นายกรกฎ กิตติพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา กล่าวว่า ทางไทยฮั้วได้เปิดให้กลุ่มกว๋างเขิ่น รัฐวิสาหกิจจากจีน(ที่มีโรงงานยางพาราในไทย) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 60% ซึ่งแรกๆ ก็กลัวเหมือนกันว่าจะมาทำอะไรที่ไม่ดี แต่พอมาแล้วก็เห็นความตั้งใจจริงในการทำธุรกิจ มีความกล้าได้กล้าเสีย และกลุ่มกว๋างเขิ่นยังมีการลงทุนปลูกยางในหลายประเทศ ทั้งนี้ข้อกังวลจากหลายฝ่ายที่เกรงทุนจีนเขามาซื้อกิจการโรงงานแปรรูปยางพาราในไทย จะเข้ามากดราคา มาเป็นผู้ควบคุมหรือกำหนดราคายางในประเทศคงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะในตลาดมีผู้เล่นหลายราย ขณะที่ในการขายยางของไทยฮั้วฯก็ยังดีลกับกลุ่มลูกค้าเดิมตามปกติ แต่หากจะขายให้บริษัทในเครือ (กว๋างเขิ่น) จะขอเก็บเป็นเงินสด 100% เพราะไม่อยากมีปัญหาถูกฝ่าย audit ตรวจสอบ และไม่สามารถฟ้องร้องได้ หากเขาเบี้ยวไม่จ่ายเงิน เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทไม่ขายสินค้าให้กว๋างเขิ่น หรือขายแต่ขายน้อยหากให้ราคาดีและจ่ายเงินสด
กรกฏ กิตติพล
“การดึงกลุ่มกว๋างเขิ่นมาถือหุ้น ส่วนหนึ่งเราได้คอนเน็กชั่น ข้อดีก็คือว่า ในตลาดเมืองจีนหากมีปัญหาอะไร หรือเก็บเงินไม่ได้ก็จะมีคนไปช่วยวิ่งไปช่วยดู และอีกอย่างเขามีระบบการทำงานที่ค่อนข้างมาตรฐาน เป็นมืออาชีพ ขณะที่ไทยฮั้วฯก่อนหน้านี้มีความเป็นธุรกิจครอบครัวสูง คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นต่างชาติมาควบคุม หรืออะไร แต่อยากให้มองอีกมุมดีกว่าคือ ต่างชาติถ้าจะมาเทคโอเวอร์เพื่อคอนโทรลตลาด หรืออะไรเขาจะทำมากกว่านี้ เขาคงซื้อทั้งหมด 5 เสือเขาคงไม่ซื้อผมคนเดียว เพราะถ้าราคาดี ตอนนี้ใครก็ขาย เพราะประสบปัญหาขาดทุนมาหลายปี”
ขณะที่ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าสินค้ายางเป็นยุทธปัจจัยหนึ่งของจีน และจีนก็พยายามรักษาความสมดุลระหว่างประเทศ จะเห็นว่าที่ผ่านมาจีนจะซื้อยางจากไทยประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิตที่มี ขณะที่การซื้อยางของจีนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา มาเลเซีย ก็จะซื้อประมาณ 50% ของสินค้าที่มีเช่นกัน ดังนั้นหากจีนเข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทยางในไทยฝั่งเดียวก็จะทำให้จีนไปซื้อยางจากข้างนอกไม่ได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับที่ 3634 วันที่ 10-12 ธันวาคม พ.ศ.2563