นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่คุณอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ข่าวสันนิษฐานว่าเกิดจากการสัมผัสกับแรงงานต่างด้าวที่ทำการประมงนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แล้วคนที่อยู่ข้างนอกไม่ทราบความจริง มาให้ข่าวแบบนี้ เรือประมง ที่นำสินค้าอาหารทะเลา พรุ่งนี้คนซื้อก็ไม่กล้าออกตลาด สินค้าสัตว์น้ำต่างๆ กระทบเป็นวงกว้าง ความเสียหายประเมินอย่างไรใครรับผิดชอบ แค่คนเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่างแพปลากับแพกุ้ง ก็ยังกระทบ แล้วมาบอกว่า แรงงานประมง พรุ่งนี้สินค้าประมงที่ขึ้นขาย ผมว่าต้องเททิ้งเลย ใครจะซื้อ
“ผมว่าถ้ายังไม่แน่ใจชัดว่ามาจากไหนจะมาพูดในลักษณะนี้ไม่ได้ เพราะสร้างความเสียหาย เพราะยอมรับว่าอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้มีความกังวลมาก ใครจะให้ข้อมูลต่างๆ ก็ต้องมีความชัดเจน แล้วการให้ข่าวในลักษณะนี้คนก็ตีความเสียหายทั้งหมด และทุกวันนี้แรงงานประมง 100% เป็นแรงงานถูกต้องทั้งหมด ไม่สามารถที่จะมีแรงงานลักลอบลงเรือได้ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ตรวจเข้า-ตรวจออก หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันมาตรฐาน มีหมดใช้ตั้งแต่รอบแรก”
เช่นเดียวกับศูนย์แจ้งเข้า-แจ้งออก หรือศูนย์ปีโป้ ก็มีข้อมูลมาตลอด มีการสุ่มตรวจเป็นพันรายทั่วประเทศก็ไม่เจอเลย ซึ่งข้อมูลก็มียืนยันอยู่ แต่พอไปให้ข่าวในลักษณะนี้ เรียบร้อย เพราะผู้บริโภคก็คิดไปไกลแล้วกลัวสัตว์น้ำจะติดโควิด เพราะต่างประเทศมีข่าวผลิตภัณฑ์ติดโควิด เรียกว่า คำพูดไม่คิด สร้างความเสียหายเท่าไร ประเมิน แค่ข่าวคลาดเคลื่อนจาก “แพกุ้ง” เป็น “แพปลา” เสียหายกว่าพันล้าน ในวันเดียว แต่คำพูดนี้ ประเมินความเสียหายไม่ได้เลย กลายเป็นความตื่นตะหนก แล้วคนจะไม่กล้ารับประทานอาหารทะเลแล้ว
นายมงคล กล่าวว่า ผมไม่ใช่ชนกับนักการเมืองและผู้บริหารประเทศ แต่ผมต้องการอธิบาย ให้คำตอบชี้แจง ที่ถูกคืออะไร อย่างไรก็ดีในตอนนี้ก็มีมาตรการเข้มห้ามแรงงานประมงกลับบ้าน ให้ใช้ชีวิตอยู่ท่าเทียบเรือ หรือ บนเรือประมงก่อน เพราะกลัวว่าจะไปติดโควิดจากคนบนฝั่ง เนื่องจากในเรือแรงงานประมงปลดภัย 100% เพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสินค้าสัตว์น้ำ (อาหารทะเล) จากเรือประมง ในส่วนของชาวประมงที่นำสัตว์น้ำขึ้นมาขายนั้นเรือประมงขึ้นที่ท่าเทียบเรือของสะพานปลาไม่เกี่ยวกับหรือไปปนเปื้อนกับสัตว์น้ำจืดและแรงงานประมงเองก็ได้มีการป้องกันตนเองโดยเจ้าของเรือจัดหาอุปกรณ์ป้องให้ให้กับแรงงานตั้งแต่โรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด แล้วขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและมั่นใจในสินค้าสัตว์น้ำอาหารทะเลจากเรือประมงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดพ่นพิษ 2 ตลาดปลา “ทะเลไทย-แม่กลอง” เจ๊ง วันเดียว เสียหายกว่าพันล้าน
ด้านนายปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าสมุทรสาคร และ ประธานบริหารสหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด หรือตลาดทะเลไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ตามที่มีข่าวว่าเจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครติดโควิด 19 นั้น ข้อเท็จจริงคือ ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวเป็นเพียงผู้ซื้อขายที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น ซึ่งตลาดกลางกุ้ง เป็นสถานที่คนละแห่งกับตลาดทะเลไทย และตั้งอยู่ห่างกัน จึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความสับสนระหว่างตลาดทะเลไทย กับ ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร โดยตลาดทะเลไทยนั้นได้มีมาตรการป้องกันโควิด 19 ตามที่ทางราชการกำหนดและปฏิบัติเป็นประจำอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการตลาดทะเลไทย ตามนโยบายภาครัฐ คือ ผู้ที่เข้าตลาดทะเลไทย จะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิและสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย , จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตรวจบนแพกุ้ง แพปลา
หากพบใครไม่สวมหน้ากาก จะเชิญลงจากแพ , มีอ่างล้างมือพร้อม เจลล้างมือ สบู่ล้างมือ จุดล้างเท้า อาคารแพปลา แพกุ้ง 6 จุด , ล้างพื้นถนนรอบตลาด และอาคารแพกุ้ง อาคารแพปลา ทุกวันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด,ร้านค้าอาหารในตลาดอนุญาตเฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น , ประชาสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการแออัดของผู้มาใช้บริการ,อาคารตลาดกุ้งเปิดทำการค้าขาย ตั้งแต่เวลา 24.00 น เป็นต้นไป,อาคารตลาดปลาเปิดทำการค้าขาย ตั้งแต่เวลา 04.00 น เป็นต้นไป,ห้องสุขาภายในตลาด มีการจัดอ่างล้างเท้า เจลแอลกอฮอล์และสบู่เหลวล้างมือ ไว้ให้สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และตลาดมีการจัดเก็บขยะและทำความสะอาดตลาดทุกวัน
ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่า ตลาดทะเลไทย ปลอดภัยแน่นอนและยังคงเปิดค้าขายเช่นเดิม โดยผู้ซื้อสามารถเข้ามาซื้อสินค้าในตลาดทะเลไทยได้เหมือนเดิม เพราะสินค้าที่เข้ามาขายในตลาดทะเลไทยทุกประเภท ไม่ว่าจะมาจากที่ใดจะต้องมีใบรับรองผ่านการตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยแล้วทุกราย
เช่นเดียวกับนายสมพร สมุทรโสภากุล ประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลอง ได้ออกมาตรการแล้ว หลังจากที่มีการระบาดที่ตลาดกุ้งมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร 1. กำหนดจุดคัดกรองบุคคลก่อนเข้ามาในตลาดปลา ณ บริเวณทางเข้าอาคารตลาดปลาสหกรณ์ 2. ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้ามาในตลาดปลาสหกรณ์ หากบุคคลใดไม่สวมหน้าหน้ากากอนามัย จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในตลาดปลาสหกรณ์ฯ โดยเด็ดขาด ถ้าฝ่าฝืนจะเชิญบุคคลนั้นออกจากตลาดปลาสหกรณ์ฯ ทันที และ 3.ขอให้ผู้ใช้บริการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดปลาสหกรณ์ฯ ล้างมือ และทำความสะอาดรองเท้า ตามจุดที่ตลาดปลาสหกรณ์ฯ จัดไว้ให้ ตั้งการ์ดสูงเข้ม
อย่างไรก็ดีมีการประเมินแล้วว่า หากจำนวนแม่ค้าน้อยลง สินค้าจะถูกกดราคามากขึ้น ปัจจุบันสัตว์น้ำราคาถูกอยู่แล้ว เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวไม่มี โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ก็ใช้น้อยลง พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ เด้ง2 จากตลาดกุ้ง มหาชัย ยิ่งทำให้มีปัญหามากขึ้น ผมก็ภาวนาว่าในระยะ 15-20 วัน ถ้ามีการควบคุมโรคได้ แล้วไม่มีการแพร่ขยายเพิ่มขึ้น ก็คิดว่าน่าจะจบ แต่ถ้าสืบแล้ว มีการแพร่ขยายไปเรื่อยๆ แล้วหากมีคนติดเยอะ ก็กลัวว่าจะมีการล็อกดาวน์จังหวัดในอนาคต อาจจะต้องมีใบอนุญาต-ซื้อขาย หรือใบผ่านเข้าจังหวัด โดยอาจจะขอต้นทางเพื่อขอเข้ามา ซื้อปลาในเวลานี้ ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็ขออย่าให้เกิดเลย