นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 (Covid-19) และราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน ต่อเนื่องจากปี 63 สู่ปี 64 ทำให้บางจากฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่กระชับ คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ พร้อมปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs – Refocus: การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Restructure: การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine: การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งสองมากที่สุด ได้มีการปรับโรงกลั่นเป็น niche products refinery นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด จากเดิมที่ผลิตน้ำมันประเภทต่างๆ บริษัทได้ขยายเป็นผู้ผลิต UCO (Unconverted Oil) รายเดียวในประเทศไทย และในปีนี้ได้ขยายและปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ความหลากหลายเพิ่มขึ้นอีก เช่น สารทำละลาย (solvent) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำละลายและเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น
อุตสาหกรรมสี ทินเนอร์ การผลิตเรซิน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสารทำละลายภายใต้ชื่อ BCP White Spirit 3040 และยังวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์หลากหลายในอนาคตอันใกล้ เช่นนำน้ำมันเตาเกรดพิเศษใช้เป็นสารตั้งต้นของการผลิต wax เพื่อนำไปผลิตเทียนไข น้ำยาขัดเงา สารเคลือบภาชนะกระดาษ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจการตลาด สถานีบริการน้ำมันบางจากสามารถครองความนิยมเป็นลำดับที่ 1 ของผู้ใช้บริการจากดัชนีวัดความพึงพอใจของลูกค้าตามผลประเมิน Net Promoter Score (NPS) ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ก็มีแผนรักษาความพึงพอใจของลูกค้า ด้วยการทำให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็น “greenovative destination” พร้อมหาทางขยายธุรกิจทั้งในส่วนของสถานีบริการและธุรกิจ non-oil อย่างต่อเนื่อง
ด้านบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าเป็นผู้นำธุรกิจผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน มีแผนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และล่าสุดได้เพิ่มทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบางจากฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสัดส่วนเพื่อเสริมฐานะทางการเงินของบีซีพีจีให้มีความแข็งแกร่ง รองรับแผนขยายธุรกิจในอนาคต ในขณะที่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ขยายธุรกิจสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของประเทศด้วย bio economy ผ่านการลงทุนใน Manus Bio Inc. ผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลก
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายธุรกิจผ่านนวัตกรรมพลังงานสีเขียวอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการจักรยานยนต์และสามล้อไฟฟ้า และการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ (battery swapping) โดยตั้งเป้าหมายขยาย Winnonie สตาร์ทอัพให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในกลุ่มบางจากฯ เป็น 10,000 คันในปี 66 และได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้า
ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการขยายจุดชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า EV Charger ในสถานีบริการน้ำมันบางจากไม่น้อยกว่า 150 สาขาทั่วประเทศ ภายในปี 64
อย่างไรก็ดี การควบคุมค่าใช้จ่ายนับเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤติ ในปี 63 บริษัทฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 900 ล้านบาท และมีการปรับโครงสร้างการลงทุน ใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุน สำหรับปี 64 ได้จัดทำงบประมาณ 3 ชุด คือกรณีฐาน (base case) กรณีที่เป็นไปได้ (likely case) และกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case) เพื่อเลือกใช้ตามสถานการณ์
“ปี 63 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปเปรียบเสมือนกับการกดปุ่ม reset ตั้งต้นใหม่ในหลายๆ ด้านเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานที่กระชับ คล่องตัว พร้อมรับสถานการณ์จะเกิดขึ้นในปี 64 โดยกลุ่มบางจากฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ธุรกิจสีเขียวเป็น 40-50% ในปี 67 และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ในปี 73”