แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ปลูกกัญชาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และชุมชน ว่า ตามที่นโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญในการต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึงศึกษาวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย ที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมสมุนไพรไทยให้เป็นพืชเศรษฐกิจประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและได้ใช้เพื่อสุขภาพอย่างครอบคลุม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุเรื่องกัญชาทางการแพทย์ อยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการ (service Plan)สาขาการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ขับเคลื่อนงานการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย ในด้านต่างๆ ผลสำเร็จในภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เตรียมผลักดันพื้นที่ปลูกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งปลูกที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้เกิดช่องทางการสร้างรายได้ให้กับประชาชนรวมถึงมีตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมเพียงพอต่อการให้บริการในระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับปัญหาสุขภาพของประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการนำร่องการปลูกกัญชาใน รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐที่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุดโดยการร่วมกับวิสาหกิจชุมชน โครงการนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ
ประกอบ ระยะที่ 1 ได้นำร่องการปลูกกัญชาใน รพ.สต. เพื่อนำไปผลิตตำรับยาน้ำมัน สนั่นไตรภพสำหรับให้บริการผู้ป่วยปัจจุบันมี รพ.สต. 3 แห่ง ได้ปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ได้แก่ รพ.สต.เชียงพิณ จ.อุดรธานี รพ.สต.คลองม่วง จ.นครราชสีมา และ รพ.สต.นาปะขอ จ.พัทลุง ระยะที่ 2 ได้เพิ่มเป้าหมายแหล่งปลูกเป็น 150 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อเกิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระดับ รพ.สต.มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มี รพ.สต.มีที่ได้รับอนุญาตปลูกจากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษแล้ว 54 แห่ง จาก 20 จังหวัด และ 11 เขตสุขภาพ และในระยะที่ 3 มุ่งพัฒนาให้เกิดการใช้สำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งอยู่ระหว่างการนำร่องใน รพ.สต.โนนมาลัย อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 7 ครัวเรือน โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในการดำเนินการ ได้แก่ ต้นแบบการปลูกเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้เกิดแนวทางให้วิสาหกิจชุมชนสามารถปลูกกัญชา 6 ต้น/ครัวเรือน
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวในตอนท้ายว่า จากผลการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์แผนไทยตามแผนงบประมาณปี 64 ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีแหล่งปลูกกัญชาที่ถูกกฎหมายสำหรับใช้ทางการแพทย์แผนไทย และประชาชน จะได้ความรู้ความเข้าใจ สามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์แผนไทยที่ถูกฎหมาย มีมาตรฐาน ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ ต่อไป