ปี 2563 ที่ผ่านพ้นไป ตัวเลขการส่งออกของไทยช่วง 11 เดือนแรก มีมูลค่า 211,286 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ทั้งปีมูลค่าการส่งออกจะติดลบที่ -6 ถึง -7% ส่วนปี 2564 ทุกสำนักพยากรณ์คาดการณ์ส่งออกไทยจะขยายตัวเป็นบวก 3-5%
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สรท.ประเมินส่งออกไทยปี 2564 ในเบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 3-4% มีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP/อาร์เซ็ป) ที่คาดจะมีผลบังคับใช้กลางปีนี้จะสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ส่งออกไทยเพิ่มขึ้น 2.ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากหลายบริษัททั่วโลกเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการเจรจาการค้า และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าโลกให้ฟื้นตัวกลับมา
3.สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 4.ระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 เป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น และ 5. การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนหลังโควิดคลี่คลาย ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและส่งผลดีต่อการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย อาทิ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เป็นต้น
นอกจากนี้สินค้าบางรายการเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้บ้างในเวลานี้ อาทิ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลาสติกและเคมีภัณฑ์ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีดีมานต์สูงขึ้น สินค้าเครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อผ้าชุดลำลอง ชุดออกกำลังกาย จากการทำงานที่บ้าน และในหลายประเทศเริ่มกลับเข้าที่ทำงานมากขึ้น
ส่วนปัจจัยลบได้แก่ ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนจากก่อนหน้านี้มีตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางจำนวนมาก ทำให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผลจากการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม(EVFTA) เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกกลุ่มสินค้าเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าประมงไปอียู
อัทธ์ พิศาลวานิช
ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกไทยปี 2564 คาดจะขยายตัวได้ที่ 3.6% มองปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรกคือ 1. สถานการณ์โควิดที่ยังยืดเยื้อ หลายประเทศมีการล็อกดาวน์รอบใหม่ 2.เงินบาททิศทางแข็งค่า 3.ประเด็นสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ยังต้องจับตา 4.ผลกระทบจากข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร (อังกฤษ)กับสหภาพยุโรป (อียู) หลังบรรลุข้อตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(Brexit) ซึ่งจากข้อตกลงแม้ไม่ส่งผลกระทบข้อผูกพันทางการค้าเดิมที่ไทยมีกับอังกฤษและอียู แต่ต้องระวังสินค้าจากเวียดนามที่มีต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่าและค่าขนส่งที่ถูกกว่าไทย และ 5.ความท้าทายใหม่คือนโยบายด้านการค้าของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
“สินค้าส่งออกที่ยังน่าห่วงในปี 2564 ได้แก่ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากแก้ว เซรามิก คอนกรีต ปูนซิเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง ที่มีความต้องการลดลงในสถานการณ์โควิด”
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์การแพร่แพรระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับลดคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจ
(จีดีพี) ปี 2564 จากเดิมคาดจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3% และการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 3-5%
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกร.ชี้โควิด-19ยังพ่นพิษ ทำส่งออกไตรมาสแรกไม่ฟื้น