นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุสินค้าควบคุม 4 รายการ ที่เคยอยู่ในประกาศฉบับเดียวกันคือ 1. หน้ากากอนามัย 2. คือใยสังเคราะห์ 3. คือแอลกอฮอล์และเจลล้างมือ 4. เศษกระดาษ ที่จะหมดอายุในวันที่ 3 ก.พ. 2564 จะส่งผลให้เป็นการควบคุมราคาต่อไปอีก 1 ปี ส่วนสินค้าในรายการอื่น ๆนั้นยังไม่หมดอายุจึงยังไม่นำมาพิจารณาเนื่องจากจะหมดอายุในเดือนมิ.ย.2564 โดยจากนี้จะนำเรื่องการต่ออายุหน้ากากอนามัยวัตถุดิบผลิตและแอลกอฮอล์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม. )ในนัดสัปดาห์หน้าเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป
สำหรับหน้ากากอนามัยนั้นมี 3 ส่วน คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันมีอยู่ 30 กว่าโรงงาน โดยยังคุมราคาอยู่ไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาทเช่นเดิม ส่วนหน้ากากอนามัยทางเลือกซึ่งประกอบด้วยที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจะคุมราคาเช่นเดิมขายปลีกได้ในราคาไม่เกินต้นทุนบวกไม่เกิน 60% และหน้ากากผ้าไม่กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมและรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนที่ไม่ป่วยใช้หน้ากากผ้าในการป้องกันโควิดเพราะกระทรวงสาธารณสุขให้การยืนยันแล้วว่าใช้ในการป้องกันสำหรับผู้ที่ไม่ป่วยได้
สำหรับการร้องเรียนผ่าน 1569 เรื่องการจำหน่ายหน้ากากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 ถึงวันที่ 12 ม.ค. 2564 มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 160 ราย ดำเนินการตรวจสอบแล้ว 129 ราย มีผลในการดำเนินคดีทั้งหมด 19 ราย ประกอบด้วย ไม่ปิดป้ายแสดงราคา 13 คดี ขายเกินราคา 6 คดี ที่เหลือเมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบการกระทำความผิด และในจำนวนคดีที่ขายเกินราคา 6 คดีนั้นเป็นคดีที่กระทำความผิดบนออนไลน์ 2 คดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป็นแนวทางชัดเจนว่าจะต้องควบคุมดูแลไม่ปล่อยให้แพลตฟอร์มเกิดการขายของผิดกฎหมายรวมทั้งหน้ากากอนามัยด้วย จึงได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วโดยเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายในเป็นผู้ดำเนินการและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้มาตรการการกำกับดูแลหน้ากากอนามัยยังใช้มาตรการเดิมเหมือนตอนที่ประกาศให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542ที่เคยประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ วันที่ 4 ก.พ. 2563 เนื้อหาหลัก คือกำหนดราคาหน้ากากอนามัยไม่เกิน 2.50 บาท/ชิ้น คือการควบคุมการส่งออก หน้ากากอนามัย ไปนอกราชอาณาจักร ประกาศกำหนดว่า ห้ามไม่ให้บุคคลใดส่งออกหน้ากากอนามัยที่มีปริมาณครั้งละตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไป เว้นแต่จะได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมการค้าภายใน การดูแลราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน จะเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่กำหนดให้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกตัวแทนจำหน่าย ต้องแจ้งต้นทุน แจ้งราคาซื้อ แจ้งราคาขาย แจ้งปริมาณผลิตแจ้งปริมาณน้ำเข้า แจ้งปริมาณส่งออก แจ้งปริมาณจำหน่าย ให้กรมการค้าภายในทราบและต้องแจ้งปริมาณคงเหลือในวันที่ประกาศบังคับใช้ โดยในเดือนถัดไปก็ต้องแจ้งทุกวันที่ 10 การแสดงราคาขายปลีก ร้านค้าต้องมีป้ายแสดงราคาที่ชัดเจนครบถ้วนเป็นภาษาไทย แต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้
ด้านนายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของโรงงานในประเทศว่า จากการที่หารือกับโรงงานผู้ผลิตกว่า 30 โรงงาน ตอนนี้วัตถุดิบยังคงมีเพียงพอและเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค กรมจะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและเน้นให้ผลิตเต็มกำลังการผลิต นอกจากนี้ยังขอให้เพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 5 ล้านชิ้นต่อวัน