ส่งออกQ1พุ่ง ทูน่ารอส่งพันตู้

16 ม.ค. 2564 | 02:00 น.

ตรวจแถวส่งออกไทยไตรมาสแรกปี 64 ทูน่า อาหารสัตว์เลี้ยง มันสำปะหลัง ยางพาราออร์เดอร์ทะลัก สมาคมทูน่าฯ กุมขมับยังส่งมอบของไม่ได้เป็นพันตู้ หลังตู้สินค้าขาดแคลนหนัก จี้พาณิชย์-คมนาคมช่วยแก้ปัญหาด่วน อัญมณี-รถยนต์ลุ้นดีขึ้น ข้าวนั่งตบยุง

 

สถานการณ์ส่งออกไทยปี 2564 เปิดฉากขึ้นในไตรมาสแรก ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ หลายสินค้ายังต้องลุ้นว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้หรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสของสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ และเข้ากับยุค New Normal ที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงร่วมของผู้ส่งออกไทย ทั้งปัญหาตู้สินค้า(ตู้คอนเทนเนอร์) ที่ขาดแคลน ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น เงินบาททิศทางแข็งค่าขึ้น และการกีดกันการค้าของคู่ค้าที่มีเป็นระยะ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบหลายกลุ่มสินค้ามีทิศทางการส่งออกขยายตัวดีขึ้น แต่อีกหลายกลุ่มยังต้องลุ้นยาว ๆ

 

ทูน่ารอส่งพันตู้

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เผยว่า การส่งออกทูน่ากระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาในปี 2563 คาดจะส่งออกได้มากกว่า 8 หมื่นล้านบาท (จากปี 2562 ส่งออก 7.7 หมื่นล้านบาท) ได้รับอานิสงส์จากโควิด ทำให้ทั่วโลกมีความต้องการอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้น ส่วนปีนี้คาดยอดส่งออกจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% จากคู่ค้ายังมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบในไตรมาสแรกหรือครึ่งแรกของปีนี้ 

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ของการส่งออกไทยในภาพรวมเวลานี้คือ การขาดแคลนตู้สินค้าส่งออก จากตู้ไปตกค้างอยู่ในอเมริกา และยุโรปช่วงโควิดเป็นจำนวนมาก และตู้เปล่าที่กลับมาส่วนใหญ่จะไปที่จีน ทำให้ขณะนี้ สินค้าทูน่ากระป๋องและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลา ยังค้างส่งมอบลูกค้าเป็นพันตู้ ขอให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยเร่งแก้ไข

 

ส่งออกQ1พุ่ง  ทูน่ารอส่งพันตู้

 

นายกรกฎ กิตติพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คำสั่งซื้อยางพาราซึ่งมีตลาดใหญ่ที่จีนมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จนถึงขณะนี้ ผลพวงจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวชัดเจน หลังโควิดคลี่คลาย ทำให้มีความต้องการนำเข้ายางพาราเพื่อไปผลิตยางล้อรถยนต์ และถุงมือยางเพิ่มขึ้น ส่งผลถึงราคายางในประเทศ เช่น น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยที่ 52-60 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลดีต่อเกษตรกรและรัฐบาล ที่อาจไม่ต้องชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้

 

“เวลานี้คู่ค้าเริ่มวางแผนซื้อระยะยาว 2-3 เดือนเพื่อจองสินค้า และจองระวางเรือเพื่อไปเติมเต็มสต๊อกที่ร่อยหรอ ปัญหาใหญ่เวลานี้คือ ตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 15 ปี โดยค่าเรือไปจีนเวลานี้ตก 600-800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ 20 ฟุต จากปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 20-50 ดอลลาร์ต่อตู้”

 

 

 

 

ออร์เดอร์มันพุ่ง-ข้าวฟุบ

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้อมันเส้นจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักเวลานี้ มีเข้ามามากเฉลี่ย 3 แสนตันต่อเดือน เทียบกับปี 2563 ไตรมาสแรกเฉลี่ย 8-9 หมื่นตันต่อเดือน โดยจีนนำเข้ามันเส้นไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลกอฮอล์ทดแทนข้าวโพดในประเทศ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก คาดทั้งปีนี้ไทยจะส่งออกมันเส้นได้ 4-5 ล้านตัน จากปีที่แล้วขาดแคลนวัตถุดิบและผลกระทบโควิดส่งออกได้เพียง 3 ล้านตัน

 

ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้อข้าวไตรมาสแรกปีนี้ยังค่อนข้างเงียบ สถานการณ์ยังไม่มีอะไรต่างไปจากปี 2563 ที่ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน มีชนิดข้าวให้เลือกน้อย เงินบาททิศทางแข็งค่าทำให้เสียเปรียบการแข่งขัน เบื้องต้นคาดไทยจะส่งออกข้าวปี 2564 ได้ประมาณ 6.5 ล้านตัน จากปี 2563 คาดส่งออกได้ 5.7-5.8 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยมีความหวังจะมีคำสั่งซื้อจากตลาดเดิมได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ รวมถึงตลาดที่อาจมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในปีนี้ เช่น บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เป็นต้น

 

ส่งออกQ1พุ่ง  ทูน่ารอส่งพันตู้

 

รถยนต์ลุ้นใกล้เคียง Q1/63

ด้านสินค้าอุตสาหกรรมนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า คำสั่งซื้อรถยนต์จากต่างประเทศไตรมาสแรกปีนี้คาดจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว คาดจะส่งออกได้ประมาณ 2 แสนคัน โดยมีสถานการณ์โควิดและวัคซีนเป็นตัวแปร ส่วนคาดการณ์ส่งออก ยอดผลิต และยอดขายในประเทศปีนี้จะแถลงในวันที่ 21 มกราคม จากปี 2563 น่าจะทำได้ตามเป้าหมายคือส่งออกได้ 7 แสนคัน ส่วนตลาดในประเทศยังต้องลุ้นว่าจะทำได้ที่ 7 แสนคันตามเป้าหรือไม่

 

ส่งออกสินค้าสำคัญ

 

นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้ออัญมณีและเครื่องประดับไตรมาสแรกปีนี้ปรับตัวดีขึ้น จากคู่ค้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ ปรับพฤติกรรมสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แนวโน้มส่งออกปีนี้ เบื้องต้นคาดจะขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 5% จากปี 2563 ยอดส่งออกลดลง 42%

 

ส่วนสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า คำสั่งซื้อไตรมาสแรกปี 2564 เทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้วไม่ต่างกันมาก แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย จากข่าวดีเรื่องวัคซีน ลูกค้าในต่างประเทศเริ่มปรับตัวในการสั่งซื้อสินค้าได้ดีขึ้น ทั้งนี้ จากผลกระทบโควิดทำให้ยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มปี 2563 ลดลงจากปี 2562 กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และสิ่งทอลดลงกว่า 2.5 หมื่นล้าน หรือรวมกันกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้การส่งออกเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 8-10% โดยสถานการณ์จะเห็นดีขึ้นชัดเจนช่วงครึ่งปีหลัง 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการชี้ปัจจัยลบยังรุม กระทบส่งออกติดลบ0.8%

โควิด-19 ฉุดยอดส่งออกอัญมณีฯ11 เดือนวูบ

เอกชนลุ้น ส่งออกปี 64 พลิกบวก 3-5%

ส่งออกผักผลไม้โต1.2แสนล. จับเชื่อมค้าออนไลน์หนีโควิด

สั่ง 400 รง.อาหารคุมเข้มขั้นสูงสุด ป้องส่งออก 1 ล้านล้านวูบ