นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ส่งออกไทย ปี 2564: ฝ่าวิกฤติโควิด์ ว่า ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2564 ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกยังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าปี 2564 แบ่งเป็น กรณี ผลิตวัคซีน โควิด -19 ได้ตามเป้าหมาย 40% ของประชากรโลก ไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 237,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 3.6%
กรณีไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิด -19 ได้ตามเป้าหมาย ผลิตได้น้อยกว่า 40% ของประชากรโลก และจำนวนผู้ติดโควิดวันละ 7-8 แสนคน ไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 227,165 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว -0.8% ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญดังนี้ปัจจัยบวกต่อการส่งออกที่สำคัญคือเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าเริ่มพื้นตัว ประเทศต่างๆ เริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปลายปี 2563 ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ในขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกที่สำคัญคือ การไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชากรโลก ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ผลกระทบจากกรอบความตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป ( EVFTA)
อย่างไรก็ตามการมีวัคซีนยังไม่ใช่คำตอบของทั้งหมดเพราะแม้แต่จะมีวัคซีนไม่ได้หมายความว่าทั่วโลกจะปลอดวัคซีนและอาจยังมีการล็อกดาวน์ในบางประเทศ รวมทั้งมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยที่ต้องติดตามในปีนี้ คือนโยบายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจรวมโดยรวม การเปลี่ยนแปลงหลัง สหราชอาณาจักรลงประชามติให้ถอนตัวออกจากการเป็น สมาชิกสหภาพยุโรป(เบร็กซิท) อังกฤษและแคนาดา แบนสินค้าจีน
“เวลานี้มีความเป็นห่วงว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนและแผนในการกระจายวัคซีนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยวัคซีนหลายตัวมีข่าวประสิทธิภาพไม่ได้ตามที่มีการประกาศไว้ รวมถึงมีวัคซีนไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรโลกจะทำให้การส่งออกในปีนี้กลับมาติดลบอีกครั้งที่ 0.8% ดังนั้น คงจะต้องคิดตามปัญหาในด้านต่าง ๆอย่างใกล้ชิด” นายอรรธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามในปีนี้มองว่าปัญหาใหญ่ที่สำคัญและน่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องของการส่งออกไทยที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขคือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกซึ่งกระทบต่อไทยทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น 3-5 เท่า และการส่งออกจะลดลง -2.2% โดยรัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือภาระต้นทุนค่าขนส่งทางเรือแก่ผู้ประกอบการ รัฐบาลต้องเร่งเจรจากับเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้ตู้เปล่ากลับมาที่ท่าเรือของไทย โดยรัฐบาลต้องยอมรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และหาช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยโดยการขนส่งทางบกและอากาศ ซึ่งรัฐบาลต้องทำความร่วมมือกับธุรกิจโลจิสติกส์ในเรื่องของค่าใช้จ่าย