LPN เตือนรัฐเปิดจดทะเบียนแรงงานระวังแก้ไม่จบ ชี้แรงงานต่างด้าว1.5 ล้านคน ที่ใบอนุญาตปริ่มหมดอายุ เสี่ยงหลุดจากระบบหลบลงใต้ดิน แนะรีบประสานประเทศต้นทาง 3 ชาติวางมาตรการรับมือ เร่งขยายอายุเอกสารประจำตัว
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 29 ธ.ค. 2563 แก้ปัญหาเฉพาะหน้าบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง เพื่อคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 โดยเปิดให้ลงทะเบียนแสดงตัวเพื่อผ่อนผันให้ทำงานในประเทศอย่างถูกต้อง ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) สะท้อนมุมมองว่า ลำพังการเปิดจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่เพื่อหวังแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดข้อกำหนดต่าง ๆ นอกจากเงื่อนไขค่าใช้จ่ายรวมเพื่อการจดทะเบียนที่สูงเฉียดหมื่นบาท เมื่อรวมค่าดำเนินการแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 15,000 บาทต่อคน ไม่จูงใจให้แรงงานเข้าระบบ เป็นโจทย์ท้าทายว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่แล้ว
รายงาน “กลับหัวคิดกับข้อเสนอเชิงนโยบายการจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ในห้วงสถานการณ์การระบาดหนักของโควิด 19 ในประเทศไทย”ของนายสมพงค์ ชี้อีกว่า ยังมีเผือกร้อนของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่กำลังรออยู่อีก คือ แรงงานต่างด้าวในระบบ ที่มีอยู่มากกว่า 1.5 ล้านคน ส่อหลุดออกนอกระบบไปเป็นแรงงานเถื่อนซํ้าเติมเข้ามาอีก หากไม่หาหนทางแก้ไขปัญหานี้ โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือ แรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ซึ่งครบกำหนดต้องประทับตราวีซ่า มีจำนวน 240,572 คน และกลุ่มที่ 2 แรงงานข้ามชาติเดิม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งต้องประทับตราวีซ่าปีที่ 2 อีกจำนวน 1,266,011 คน รวมเป็น 1,506,583 คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานกลุ่มที่ 2 ที่อายุเล่มหนังสือเดินทางจะครบกำหนดภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนมากที่จะต้องไป
ขอประทับตราต่อวีซ่าดวงที่ 2 แล้ว แต่โรงพยาบาลของรัฐยังไม่รับ
ตรวจสุขภาพเพื่อยื่นตม.ในการยื่นขอประทับตราวีซ่า ซึ่งทางตม.ก็ยังไม่รับตีวีซ่า
หากแรงงานกลุ่มนี้จะทิ้งใบอนุญาตเดิม เพื่อมายื่นจดทะเบียนแรงงงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ก็ต้องเสียเงินค่าใบอนุญาตทำงานที่ได้รับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ไปโดยเปล่าประโยชน์ แถมจะต้องมาจ่ายเงินเพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ที่จะเริ่ม วันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ซํ้าซ้อนกันอีก
ประกอบกับมีเหตุสืบเนื่องคือ ด่านชายแดนปิดให้บริการ ขณะที่ศูนย์เก็บข้อมูลแรงงานชาวเมียนมาที่ตลาดทะเลไทยก็ปิดการตรวจ
โควิด-19 ก็มีราคาแพง ทางออกจึงเป็นทางตันของกลุ่มนี้ ซึ่งยังไม่เห็นทางออก ว่าจะได้เล่มหนังสือเดินทางใหม่เมื่อไหร่ จนอาจตัดสินใจออกนอกระบบไปเป็นแรงงานเถื่อนอีกรอบ
ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ 1.สำรวจข้อมูลที่แท้จริงของนายจ้างและแรงงานที่อายุหนังสือเดินทางจะหมดอายุใน 31 มีนาคม 2564
โดยด่วน 2. กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เร่งประสานประเทศต้นทางแรงงานเหล่านี้ เพื่อหาทางออกปัญหานี้ และ3.กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สมควรพิจารณายกเลิกใบอนุญาตทำงานเดิม และคืนเงินให้กับแรงงานที่ต้องเข้าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 อย่างน้อยแรงงานจะได้ไม่เสียเงินซํ้าซ้อน ได้เงินคืนมาเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมของใหม่
“รัฐบาลต้องรีบประสานทูตฝ่ายแรงงานทั้ง 3 ชาติ โดยขยายอายุเอกสารประจำตัว (CI, TD) ของแรงงานข้ามชาติ ในอดีตเคยใช้วิธีการติดสติกเกอร์ หรือประทับตราขยายอายุเอกสารประจำตัว ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ อาจให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดในท้องที่นั้น ออกหนังสือรับรองสถานะใบอนุญาตทำงาน และยืนยันตัวบุคคลด้วย เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการขยายอายุด้วยอีกวิธีหนึ่ง ก่อนจะเป็นทางตันและกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโดยภาพรวมได้”
หน้า 1ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564