มี.ค.นี้ รู้ผลประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" รฟม.เตรียมชงค่าโดยสาร 15-45 บาท

25 ม.ค. 2564 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2564 | 05:22 น.

รฟม.เปิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม 15-45 บาท ยึดตามดัชนีผู้บริโภค ลุยเจรจาเอกชนชนะประมูล มี.ค.นี้ หากศาลปกครองสูงสุดไต่สวนแล้วเสร็จ คาดผู้โดยสารใช้บริการ 4 แสนคนเที่ยวต่อวัน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า เบื้องต้นทางรฟม.จะกำหนดอัตราค่าโดยสารของโครงการดังกล่าวเมื่อเปิดให้บริการในปี 2567 อยู่ที่ 15-45 บาท เฉลี่ย 2.50 บาทต่อสถานี โดยพิจารณาจากสมมุติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2 % ต่อปี พฤติกรรมของผู้บริโภค และระยะทางการเดินทางของผู้โดยสาร เนื่องจากรฟม.ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพและประชาชนรับได้

มี.ค.นี้ รู้ผลประมูล \"รถไฟฟ้าสายสีส้ม\" รฟม.เตรียมชงค่าโดยสาร  15-45 บาท

"ขณะเดียวกันกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ชะลอการประมูลโครงการฯนั้น หากกระบวนการไต่สวนของศาลปกครองสูงสุดแล้วเสร็จ หลังจากนั้นใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอของเอกชนทั้ง 2 ราย ประกอบด้วย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะได้ผู้ชนะการประมูล และยืนยันว่าจะเปิดให้บริการตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะใช้ระยะเวลาน้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้หลังจากได้ผู้ชนะการประมูลเราจะเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูลโดยยึดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้โดยสารปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น"

 

 

 

ที่ผ่านมา รฟม.ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request for Proposal: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานี ขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ของ รฟม. ที่มีสมมติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2567 ซึ่งคำนวณตามมาตรฐานของรฟม.

 

 

นายภคพงศ์  กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในอนาคตรฟม.จะกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นพื้นฐานอัตราเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง อยู่ที่ 15-45 บาท เฉลี่ย 2-3 บาทต่อสถานี โดยอ้างอิงตามมาตรฐานของรฟม. ปรับอัตราโดยอ้างอิงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food & beverages) ตามที่เกิดขึ้นจริง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีเจตนารมณ์ให้โครงการรถไฟฟ้าของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

 

 

 

ทั้งนี้เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการในปี 2567 เบื้องต้นรฟม.คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารทั้งสายสีส้มตะวันออกและสายสีส้มตะวันตก จำนวน 400,000 คนเที่ยวต่อวัน. สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)