นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถาบันอาหาร ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์การส่งออกอาหารของไทยในปี 64 จะมีมูลค่า 1.08-1.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น10.2-12.2% เทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งหดตัวจากผลกระทบของโควิด-19 (Covid-19) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพืชพลังงานทดแทน เช่น ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น จากความต้องการพลังงานทดแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รวมทั้งการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ ในเอเชียจะทำให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลดีในแง่ของแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรไทย ล่าสุดผลผลิตวัตถุดิบภาคเกษตรของไทยค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ราคาและรายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ส่งผลดีต่อวัตถุดิบและเกื้อหนุนต่อการบริโภคภายในประเทศ
ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกอาหารของไทยช่วง 11 เดือน ของปี 63 อยู่ที่ 9.81 แสนล้านบาท ลดลง 7.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ซึ่งมีมูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท ลดลง ถึงแม้ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 การส่งออกขยายตัวสูง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นเพียงการสั่งซื้อจากการที่ประเทศคู่ค้าเร่งนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อรองรับการกักตัวในระยะสั้น
สินค้าที่มีอัตราเติบโตดีในช่วง 11 เดือน ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง/แปรรูป แม็คเคอเรล/ซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งกระป๋อง ปู/หอยลายแปรรูป ไก่แช่แข็ง ผลไม้กระป๋อง–สับปะรด ลำไย มะม่วง ผลไม้รวม ผลไม้แปรรูป เช่น สับปะรดแช่อิ่มอบแห้ง ผลไม้อื่นๆแปรรูป น้ำผลไม้ผสม น้ำส้ม ผักกระป๋องและแปรรูป–ข้าวโพดหวาน หน่อไม้ มะเขือเทศ เห็ด พืชผักดองน้ำส้ม เป็นต้น แป้งข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมกลุ่มบิสกิต เวเฟอร์ ซอสพริก น้ำปลา เครื่องแกงสำเร็จรูป ผงปรุงรส ซุปและซุปข้น เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขภาพรวมการค้าอาหารในปี 64 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง คือ 4 ปัจจัยซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขที่ประมาณไว้มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1.การกระจายวัคซีนโควิด-19 ล้าช่า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเดินทาง ซึ่งเป็นช่องทางกระจายสินค้าอาหารไม่ต่ำกว่า 20% ของสินค้าอาหารส่งออกทั้งหมด โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็ง
2.เงินบาทแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้า (Fund flow) สู่ตลาดเอเชียและไทยมากขึ้น ,3.มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) หลังจากคาดว่าการค้าโลกในระยะถัดไปจะกลับเข้าสู่ระบบการค้าเสรีภายใต้ทวิภาคีมากขึ้น มาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้ภาษีก็มีแนวโน้มคลายตัวลงไป และ4.ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง เมื่อปัจจัยสนับสนุนจากการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังวัคซีนมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการได้รับปัจจัยหนุนจากผลการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงมาอยู่ที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 7% ของความต้องการใช้น้ำมันของโลกในเดือนมกราคม 64
นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า แนวโน้มสินค้าที่มีความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในปี 64 คือ 1.สินค้าในกลุ่มโปรตีนจากพืช ที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากพืช ผลิตภัณฑ์ทดแทนอาหารทะเลจากพืช ผลิตภัณฑ์นมจากพืช ผลิตภัณฑ์ทดแทนไข่จากพืช เป็นต้น
2.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น สินค้ากลุ่มสมุนไพรและเครื่องเทศ กลุ่มถั่วและเมล็ดพืช กลุ่มผลไม้และผัก กลุ่มผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกและพรีไบโอติก และ กลุ่มสินค้าอื่นๆ และ3.กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมผลิตแบบยั่งยืน
ส่วนสินค้าไทยที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการส่งออกขยายตัว ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและกึ่งสำเร็จรูปพร้อมปรุงสำหรับครัวเรือน ส่วนสินค้าที่มีการบรรจุใหญ่สำหรับธุรกิจบริการอาหารจะเริ่มฟื้นกลับมา หลังจากผู้คนได้รับวัคซีนและออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น หากควบคุมการระบาดได้คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นตัว ส่วนคุณลักษณะสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญยังคงเน้นที่ความปลอดภัย สะอาดและถูกสุขลักษณะ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และดีต่อสุขภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่งออกข้าวปี64 ไม่ฟื้น ชาวนาผวาโดนหางเลข
เฮ จิ้งหรีดไทยโกอินเตอร์ จ่อส่งออก “เม็กซิโก”
ส่งออกข้าวสะท้าน ปี 63 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
“ส่งออกไทย” ปี64 มีความหวัง กลุ่มอุตสาหกรรมฟื้นตัวในรอบ22เดือน
ทำยังไงให้อุตสาหกรรมได้ “ไปต่อ” หลังโควิด