เปิดโผ 10 บิ๊กส่งออกข้าวปี 63

31 ม.ค. 2564 | 01:05 น.

เปิดชื่อ 10 บริษัทส่งออกข้าวปีล่าสุด เอเชียโกลเด้นไรซ์-นครหลวงค้าข้าว ยังครอง 2 อันดับแรกเหนียวแน่น ขณะซี.พีฯ-โกลเด้นแกรนารี่-ไทยฟ้า-ไร้ซ์แลนด์ฯขยับอันดับดีขึ้น ลุ้นได้ตลาดเดิมดันเป้าปีนี้ 6.5 ล้านตัน ด้านโรงสีทยอยปิดกิจการ กำลังผลิตหาย 40 ล้านตัน ข้าวชาวนาผวาถูกกดราคาซื้อ

 

ปี 2563 ไทยส่งออกข้าวได้ 5.72 ล้านตัน ตํ่าสุดในรอบ 20 ปี หล่นไปอยู่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย(ส่งออกได้ 14.4 ล้านตัน) และเวียดนาม (6.2 ล้านตัน) จากหลายปัจจัยส่งผลกระทบ เช่น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการส่งออกข้าวไทยสูง ส่งผลราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง เงินบาทแข็งค่า ตู้สินค้าส่งออกไม่เพียงพอ ประเทศผู้นำเข้าได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อลดลง ขณะที่คู่แข่งเช่นเวียดนามมีข้าวหลากหลายพันธุ์ให้เลือกมากกว่า เป็นต้น

 

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า ในปี 2563 ปีล่าสุด ในกลุ่มผู้ส่งออกข้าว 10 อันดับแรกของไทย ใน 2 อันดับแรก ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยอันดับ 1 ยังเป็นกลุ่มเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ ส่งออกได้ 792,873 ตัน ลดลงจากปี 2562 ที่ส่งออกได้ 972,211 ตัน อันดับ 2 กลุ่มนครหลวงค้าข้าว ส่งออกได้ 649,443 ตัน ลดลงจากปี 2562 ส่งออกได้ 868,731 ตัน

 

ส่วนในอันดับ 3 ถึง 7 มีการเปลี่ยนแปลง โดยอันดับ 3 (ขยับขึ้นมาจากอันดับ 4) คือกลุ่มซี.พี.อินเตอร์เทรด ,อันดับ 4 บริษัท โกลเด้น แกรนารี่ จำกัด (ขยับขึ้นมาจากอันดับ 6), อันดับ 5 กลุ่มไทยฟ้า (2511) (ขยับขึ้นมาจากอันดับ 7) อันดับ 6 กลุ่มไร้ซ์แลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล(ขยับขึ้นมาจากอันดับ 8) และอันดับ 7 กลุ่มโตมี อินเตอร์เทรด (จากปี 2562 ไม่ติด 10 อันดับแรก) ทั้งนี้ในภาพรวมผู้ส่งออกใน 10 อันดับแรกส่วนใหญ่มีการส่งออกที่ลดลงจากปี 2562 แต่ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้นอาทิ กลุ่มซี.พี.ฯ และโกลเด้น แกรนารี่ เป็นต้น

 

ผู้ส่งออกข้าวไทย

 

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในปี 2564 ทางกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกข้าวที่ 6 ล้านตัน ขณะที่สมาคมฯคาดการณ์เบื้องต้นจะส่งออกได้ 6.5 ล้านตัน โดยยังมีความหวังตลาดข้าวเดิมของไทยจะกลับมาซื้อ เช่น อินโดนีเซียหากผลผลิตกระทบภัยธรรมชาติไม่เพียงพอบริโภคในประเทศอาจกลับมาซื้อข้าวไทย แต่คงต้องแข่งขันกับข้าวของเวียดนาม ตลาดแอฟริกาใต้ที่ยังนิยมบริโภคข้าวนึ่งจากไทย ตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีนที่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย และตลาดญี่ปุ่นที่ยังนำเข้าข้าวไทยตามกรอบข้อตกลงองค์การการค้าโลก(ปีละประมาณ 3 แสนตัน)จากข้าวเวียดนามที่ส่งไปญี่ปุ่นเมื่อ 8-9 ปีก่อนมีปัญหาสารตกค้าง ทำให้นำเข้าข้าวจากไทยเป็นหลัก

 

เปิดโผ 10 บิ๊กส่งออกข้าวปี 63

 

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า หากไทยส่งออกข้าวได้น้อยในปีนี้ สวนทางกับผลผลิตในประเทศหากมีมาก จะทำให้สต๊อกข้าวของโรงสี และผู้ส่งออกมีมาก ห่วงโรงสีและผู้ส่งออกจะมากดราคารับซื้อเป็นทอด ๆ เพราะถ้าซื้อแพงก็จะขายไม่ออก จากคู่แข่งขันส่งออกข้าวในต่างประเทศล้วนขายถูกกว่าไทย จะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาตํ่า อาจส่งผลทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระชดเชยส่วนต่างในโครงการประกันรายได้เพิ่ม

 

เปิดโผ 10 บิ๊กส่งออกข้าวปี 63

 

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงสีมีการแข่งขันสูง ประสบปัญหาขาดทุน และขาดสภาพคล่อง รวมถึงจากผลผลิตข้าวเปลือกที่ลดลงจากเกษตรกรใช้พื้นที่ไปปลูกพืชอื่นบางส่วน กระทบโรงสีหลายโรงได้ปิดกิจการไป ส่งผลให้เวลานี้กำลังผลิตโรงสี(กำลังสีแปร)ในภาพรวมลดลงเหลือราว 80 ล้านตัน จาก 1-2 ปีที่ผ่านมามีกำลังผลิตรวมกว่า 120 ล้านตันต่อปี(ลดลง 40 ล้านตัน) มากกว่าข้าวเปลือกในประเทศที่มีผลผลิตไม่แน่นอน เฉลี่ย 25-35 ล้านตันต่อปี

 

“แม้ปีนี้คาดไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่มากนัก แต่โรงสีในภาพรวมคงไม่ไปกดราคาซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพราะส่วนใหญ่ซื้อตามกลไกตลาดที่เป็นเรื่องของ
ดีมานต์และซัพพลาย ปัจจุบันธุรกิจโรงสีมีการแข่งขันสมบูรณ์ หากใครกดราคา ชาวนาก็มีสิทธิ์ขายให้รายอื่น ภาพรวมธุรกิจโรงสีปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้วหรือไม่พูดยาก คงขึ้นกับผลผลิตข้าวเปลือกว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ามีข้าวสีมากธุรกิจก็เดินต่อได้ แต่ถ้าน้อยแข่งขันสูงก็คงลำบาก” 

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1  ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งออกข้าวปี64 ไม่ฟื้น  ชาวนาผวาโดนหางเลข

ค้าข้าวเดือด “โรงสี” เปิดศึกชิงเค้ก 3 แสนล้าน

“พาณิชย์”กางแผนส่งออกข้าวปี64 เดินหน้าเจรจาปท.คู่ค้า

ส่งออกข้าวสะท้าน ปี 63 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ส่งออกข้าวไทยระส่ำหนัก อีก5ปีส่อหลุดท็อปทรีโลก