ประท้วงใน “เมียนมา” ยังไม่กระทบค้าไทย

30 ม.ค. 2564 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2564 | 05:41 น.

​​​​​​​“กลินท์” เผย ประท้วงใน “เมียนมา” ยังไม่กระทบค้าไทย ชี้หากรัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงจริง ต้องประเมินนโยบายอีกครั้งว่ามีผลกระทบหรือไม่

จากกรณีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง Royal Thai Embassy, Yangon เผยแพร่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดในเมียนมานั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอเผยแพร่ข้อมูลเพื่อการรับทราบ ดังนี้ 

 

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 29 ม.ค. 64 มีขบวนรถบรรทุกขนาดเล็ก 50 - 60 คัน นำกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค USDP เข้าสู่กรุงเนปิดอ โดยผู้สนับสนุนพรรค USDP ราว 500 คน ถือธงพรรค USDP และเดินประท้วง กกต. จากบริเวณหน้าที่ทำการพรรค USDP กรุงเนปิดอ ไปยังหน้าศาลฎีกาเมียนมา ซึ่งมีตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา มีรายงานว่า ผู้ชุมนุมบางคนโยนอิฐก่อสร้างใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรงอื่น ๆ ภายหลังเกิดการชุมนุม ได้มีการควบคุมยานพาหนะเข้ากรุงเนปิดอจากกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์

 

ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีผู้ชุมนุมราว 200 - 500 คน ชุมนุมประท้วง กกต. บริเวณฝั่งตะวันออกของเจดีย์ชเวดากอง เขตบาฮาน กรุงย่างกุ้ง โดยเป็นการชุมนุมเพียงระยะเวลา 1 ชม. และไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรงใด ๆ

 

มีการออกแถลงการณ์ร่วมโดยคณะผู้แทน EU สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำเมียนมา 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก เช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ในกรุงย่างกุ้ง เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาและทุกฝ่าย ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และคัดค้านความพยายามใด ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือสร้างอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา

 

เลขาธิการสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการล่าสุดในเมียนมา ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการยุยง ยึดมั่นในบรรทัดฐานประชาธิปไตย และเคารพผลการเลือกตั้ง รวมถึงใช้กลไกทางกฎหมายที่มีในการแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง


 

กลินท์ สารสิน

 

ต่อสถานการณ์ดังกล่าวนี้ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  “เมียนมา” เป็นประเทศเพื่อนบ้าน ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ควรจะให้ในประเทศ ตกลงให้เรียบร้อยก็มองว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ยังอยู่ในสถานะที่เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

 

ในเรื่องการค้าขายนั้น จะต้องรอดูว่านโยบายรัฐบาลเป็นอย่างไร ก็ไม่แน่ใจ แต่ต้องดูนโยบายว่าเป็นอย่างไร แต่มองโดยภาพรวมไม่น่าที่จะมีปัญหาอะไร เพราะมีการซื้อขายระหว่างกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศ “เมียนมา”