นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในระยะต่อไปบ้านปูจะดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มสัดส่วนพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดและฉลาดให้มากขึ้น ผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่จะเป็นเรือธงในการสร้างและขับเคลื่อนพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน และพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานเพื่อตอบเทรนด์พลังงานยุคใหม่ 3Ds ได้แก่ การกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน (Decentralization) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการระบบพลังงาน (Digitalization)
สำหรับปัจจุบันกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของบ้านปู เน็กซ์ มีอยู่ทั้งหมด 694 เมกะวัตต์ และนับเป็นสัดส่วน 22.4% ของกำลังการผลิตพลังงานรวมของบ้านปูทั้งหมดที่ 3,097 เมกะวัตต์ และจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังผลิตพลังงานสะอาดให้ถึง 1,600 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตพลังงานรวม 6,100 เมกะวัตต์ ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ บ้านปูยังมีพอร์ตก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานที่เชื่อมโยงไปสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น (Bridging Energy) ที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 600-700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ โดยในรอบปีที่ผ่านมา บ้านปู เน็กซ์ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการสร้างความแตกต่างในการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานสะอาดที่ฉลาดขึ้นอย่างครบวงจร ด้วย 5 โซลูชันพลังงานฉลาด (Smart Energy Solutions) ประกอบด้วย ฉลาดวิเคราะห์ พัฒนาโปรแกรมที่สามารถติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรม รูปแบบ และช่วงเวลาการใช้พลังงานสำหรับกลุ่มโรงงาน
ฉลาดผลิต พัฒนา Smart Energy Application (BANPU Application) ให้แก่ลูกค้าที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เพื่อใช้งาน เป็นบริการหลังการขาย โดยจะมีฟีเจอร์ใหม่ ที่สามารถตรวจสอบการใช้ไฟได้แบบเรียลไทม์ รวมไปถึง โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือ โซลาร์ลอยน้ำ
ฉลาดเก็บ บ้านปู เน็กซ์ อีพรอมต์มูฟ (บ้านปู เน็กซ์ e-PromptMove) ซึ่งเป็นต้นแบบชุดผลิตและกักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบรถเทรลเลอร์รายแรกของไทย
ฉลาดใช้ บริการยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) อย่าง Muvmi และ บ้านปู เน็กซ์ อีวี คาร์แชริ่ง ที่เติมเต็มการเดินทางให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ด้วยบริการรับ-คืนรถแบบไร้สัมผัส เป็นต้น
และฉลาดหมุนเวียน ลงทุนใน Gepp Sa-ard ผู้ให้บริการด้านข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะ
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลของบ้านปู (Digital Transformation) บริษัทฯ ได้จัดตั้ง Digital Center of Excellence (DCOE) ในปี 2561 เพื่อเป็นหน่วยงานเรือธงในการนำบ้านปูสู่การปรับเปลี่ยนวิธีทำงานให้ตอบรับโลกยุคใหม่ ตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์ ไปจนถึงการทำงานในทุกขั้นตอน ที่สามารถนำเทคโนโลยีและแนวคิดแบบดิจิทัลเข้าไปเสริมประสิทธิภาพได้ รวมไปถึงนำนวัตกรรมต่าง ๆ ไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทั้งแบบ B2B, B2C และ B2G ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ (HR) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ในการวางแผนและขยายผลกระบวนการในการพัฒนาทักษะให้พนักงาน ทั้งการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill)
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของขั้นตอน Digital Transformation เห็นเป็นรูปธรรมแล้วใน 4 ประเทศนำร่อง ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งในประเทศเหล่านี้มีหน่วยงาน Digital Capability Centers ตั้งอยู่ที่สำนักงานในประเทศนั้น ๆ (Physical) และมีทีมงานทำงานร่วมกับ DCOE ที่สำนักงานใหญ่ในประเทศไทย (Virtual) โดยได้ขับเคลื่อนกระบวนการ Digital Transformation ที่เหมาะกับบริบทของธุรกิจในแต่ละประเทศ ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างสรรค์ไอเดีย พัฒนา และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนั้น ๆ จากเครือข่ายเทคโนโลยีของบ้านปู โดยมีดิจิทัลโปรดักส์ กว่า 82 เคสและยังคงพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง
นวัตกรรมที่น่าสนใจจาก Digital Transformation ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีทั้งสำหรับผู้บริหารและสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่สำนักงาน อาทิ ระบบ Melak Digital Center (MDC) ที่ใช้ Big Data Analytic วิเคราะห์ข้อมูลกระบวนการผลิต และห่วงโซ่อุทาน (Supply Chain) ให้ห้องควบคุมที่อินโดนีเซียแบบเรียลไทม์ Global Procurement Excellence (GPE) ซึ่งเป็นระบบการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) มาตรฐานระดับโลกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุน นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีสำหรับที่ไซต์งาน ทั้งที่เหมืองและโรงไฟฟ้า อาทิ
Geophysical Logging System (GLOG) ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บ่งชี้เวลาและจุดยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดที่จะทำการขุดเจาะ ซอฟท์แวร์ UMA (Underground Mining Assistant) ที่ช่วยเชื่อมต่อผู้ปฏิบัติงานในเหมือนใต้ดินกับหัวหน้างานบนภาคพื้นดินในออสเตรเลีย และ ‘SwitchDin’ ระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานสำหรับทุกเหมืองที่ออสเตรเลียด้วยอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) และ เทคโนโลยีเก็บข้อมูล (Cloud Platform) ฯลฯ
นอกจากกลยุทธ์ Greener & Smarter แล้ว บ้านปูยังได้เพิ่มกลยุทธ์ Faster เข้ามาด้วย เพื่อเร่งการยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความยั่งยืนหรือ ESG (Environment, Social and Governance Principles) ให้กับทั้งธุรกิจ ความยั่งยืนด้านพลังงาน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Customer Centric) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล พร้อมทั้งเน้นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ให้มีความครบวงจรมากที่สุด
โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าและสตารท์อัพด้านเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อคิดค้นและพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และ เทรนด์พลังงานของโลกอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“บ้านปู เน็กซ์” ผนึกภาคีเครือข่ายเดินหน้าภูเก็ตสมาร์ทซิตี้
“บ้านปู”คงเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันของทริสเรทติ้งที่ A+
"โควิด-19" ฉุดยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 63 ร่วง 12.5%