150 บริษัทผวา ทหารเมียนมาอยู่ยาว โลกจ่อคว่ำบาตร-ลงทุนชะงัก

03 ก.พ. 2564 | 08:30 น.

150 บริษัทไทยจับตา รัฐประหารในเมียนมา ผวาเปลี่ยนเงื่อนไขลงทุน ยกเลิกสัญญา-สัมปทาน ทำธุรกิจชะงัก กกร.เตรียมประเมินสถานการณ์รับมือ สภาธุรกิจฯชี้งานนี้กระทบจีนมากสุดหลังเซ็น MOU กว่า 30 ฉบับ ด้านแบงก์กสิกรฯ เตรียมลดใส่เงินร่วมลงทุนในเอแบงก์เมียนมา

 

การก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเพื่อยึดอำนาจว่าที่รัฐบาลใหม่ (สมัยที่2) ภายใต้การ นำของนางอองซาน ซูจี ช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ยกเหตุผลมีการทุจริตการเลือกตั้งครั้งมโหฬารที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลกโดยคณะรัฐประหารของเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ได้ประกาศสถาน การณ์ฉุกเฉินมีผลนับจากนี้ไปอีก 1 ปีนั้น สร้างความวิตกให้กับภาคธุรกิจของไทยที่เข้าไปทำการค้า ลงทุนในเมียนมากกว่า 150 บริษัท โดยล่าสุดอมตะกรุ๊ปได้ประกาศชะลอการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในเมียนมา

 

ผวากฎกติกานับ 1ใหม่

 

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผลกระทบ การค้า การลงทุนไทยในเมียนมาในครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน คงต้องรอคณะรัฐประหารของเมียนมาจะมีประกาศฉบับที่ 2 ที่ 3 หรือฉบับอื่นๆ ออกมาว่าจะมีผลต่อการค้าการลงทุนของต่างชาติในเมียนมาหรือไม่ แต่เบื้องต้นการก่อรัฐประหารย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือการทำธุรกรรมทางธุรกิจในเมียนมาไม่มากก็น้อย รวมถึงส่งผลให้ต่างชาติที่ทำการค้าลงทุนในเมียนมาขาดความเชื่อมั่น โดยจับตาว่า เงื่อนไขกฎกติกาการค้า การลงทุนรวมถึงสัญญาสัมปทานหรือเอ็มโอยูต่าง ๆ ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจีเคยทำไว้กับต่างประเทศจะถูกรื้อหรือยกเลิกหรือไม่ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเมียนมาที่อาจต้องเริ่มนับ 1 ใหม่

 

“ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์ครั้งนี้คือจีนเพราะเมื่อวันที่ 17-19 มกราคมปี 2563 ท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เยือนเมียนมา และได้มีการทำเอ็มโอยู ความร่วมมือ 33 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันจีนได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินไปแล้ว 30-40% ต้องจับตามองว่าการเมืองระหว่างจีนกับเมียนมาจะเป็นไปในทิศทางใด รวมถึงต้องจับตาท่าทีของชาติตะวันตกว่าจะมีการแซงชั่นเมียนมาหรือไม่”


ไทยลงทุนอันดับ 6 ในเมียนมา

 

150 บริษัทไทยสะดุ้ง

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เผยว่า ณ ปัจจุบันมีภาคธุรกิจของไทยได้เข้าไปทำการค้าลงทุนในเมียนมาแล้วกว่า 150 บริษัท ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ กลุ่ม ปตท.SCG, เครือซีพี, อมตะกรุ๊ป, ทีโอเอฯ, อิตาเลียนไทยฯ, โอสถสภา, สแกน อินเตอร์, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, ทีทีซีแอล, เครือสหพัฒน์,โออิชิ กรุ๊ป,ไมเนอร์ฯ, ธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย,ไทยพาณิชย์, กรุงไทย เป็นต้น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบหากทางเมียนมาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำธุรกิจ

 

ขณะข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ระบุว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559/60 ถึงปีงบฯ 2563/64 มีบริษัทไทยได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้กฎหมาย Myanmar Investment Law รวม 47 โครงการ มูลค่าการลงทุน 911.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 27,360 ล้านบาท) โดยไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับ 6 ในเมียนมา รองจาก สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น

 

กกร.เตรียมถกรับมือ

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมาว่าจากนี้จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร แต่คงส่งผลกระทบการค้า การลงทุนของไทยในเมียนมาที่จะชะลอตัวลง ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)จะมีการประชุมประจำเดือน โดยประเด็นหนึ่งคือการรับทราบความคืบหน้าสถานการณ์ในเมียนมาจากสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เพื่อประเมินสถานการณ์รับมือต่อไป

 

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า จากโควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมการค้า การลงทุนไทย-เมียนมาลดลงระดับหนึ่ง ครั้งนี้มีรัฐประหารอีก ผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจเมียนมาคือการลงทุนมูลค่าสูงๆ ในโครงการใหม่ ๆ ของต่างชาติในเมียนมาคงจะชะลอตัวลง รวมถึงหลายโครงการที่ภาคเอกชนไทยถูกบอกยกเลิกสัญญาก่อสร้างจากรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาไปแล้ว เช่น โครงการทวาย โอกาสที่จะกลับมาอีก หรือยกเลิกเหมือนเดิมในรัฐบาลนี้ก็ยังยากที่จะคาดเดา

 

แบงก์กสิกรชะลอลงทุน

 

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า ที่ผ่านมาแบงก์กสิกรไทยได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางของเมียนมาตามแผนการเข้าร่วมลงทุนในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ดีเวลล็อปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ ในสัดส่วน 35% หลังจากเกิดเหตุการณ์ธนาคารได้ชะลอแผนการใส่เม็ดเงินลงทุนไปอีก 1ปี เพื่อดูความชัดเจน

 

 

โลกจ่อควํ่าบาตร

 

ด้านสถานการณ์ในต่างประเทศนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันกดดันเมียนมา และประณามกองทัพเมียนมาโดยระบุว่า การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในครั้งนี้ เป็น “การทำลายหลักนิติธรรม” ที่ใช้ในการปกครองประเทศ และเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยไว พร้อมให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหว รวมทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่ที่ถูกควบคุมตัวในทันที

 

“เหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สหรัฐฯจะต้องทบทวนกฎหมายการควํ่าบาตรและอำนาจเราที่มีอยู่ในทันที ตามด้วยการใช้มาตรการลงโทษอย่างเหมาะสม”นายไบเดนประกาศตอนหนึ่ง

 

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ออกโรงแสดงจุดยืนในการประณามกองทัพเมียนมา ที่ควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไปหลายคน และขอเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งคณะรัฐบาลชุดนี้เข้ามา ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เป็นสิ่งร้ายแรงต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย

 

ส่วนท่าทีของจีนที่เป็นทั้งคู่ค้าและผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมา นายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายจัดการกับความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละฝ่าย “อย่างเหมาะสม” ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกรอบกฎหมาย โดยจีนหวังว่าเมียนมาจะสามารถ รักษาสเถียรภาพทางการเมืองและสังคมของประเทศไว้ได้ 

 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดใจครั้งแรก พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ในวันที่การรัฐประหารเมียนมาเป็นสิ่ง "หลีกเลี่ยงมิได้"

ผู้นำสหรัฐพร้อมใช้มาตรการ "คว่ำบาตรเมียนมา" หลังเหตุรัฐประหาร

เมียนมารัฐประหาร ทหารคุมตัว"อองซาน ซูจี"

คณะรัฐประหารเมียนมา ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

“พาณิชย์”ยัน รัฐประหารเมียนมา ไม่กระทบการค้าชายแดน