นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลักดันให้มีการนำมาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัยไปใช้ในโรงเรียน ว่า สมอ. ,สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และภาคีเครือข่ายเด็กปลอดภัยทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 10 หน่วยงาน อาทิ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิรามาธิบดี
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย องค์การช่วยเหลือเด็ก องค์กรเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ มูลนิธิรักษ์ไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงแรงงาน กรมการขนส่งทางบก กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐาน “โรงเรียนปลอดภัย” เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. กว่า 30,000 โรง นำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการภายในโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ เช่น อันตรายจากอาคารเรียน อาคารประกอบ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา เพลิงไหม้ในห้องครัว อุบัติเหตุและอุปกรณ์ภายในห้องเรียน
การจัดการเมื่อเกิดโรคระบาด และการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงเรียนเพื่อให้เด็กนักเรียน และบุคลากร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความปลอดภัยสูงสุด โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการประชาพิจารณ์เพื่อให้มาตรฐานมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ และหลังจากนี้จะฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าวผ่านทางสื่อออนไลน์ของ สพฐ. ที่เชื่อมต่อกับทุกโรงเรียนในสังกัด ซึ่งคาดว่าเปิดเทอมใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ทุกโรงเรียนจะสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้บริหารจัดการภายในโรงเรียนได้ทันที
ทั้งนี้ มาตรฐาน โรงเรียนปลอดภัย มีขอบข่ายคุ้มครองความปลอดภัยแก่นักเรียนใน 4 ด้าน ดังนี้
1.ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียน เช่น อาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่น สิ่งแวดล้อมภายนอกอาคาร เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ
2.ด้านการดำรงชีวิต ได้แก่ การบาดเจ็บ/อุบัติเหตุ จากสภาพแวดล้อม การเรียนการสอน และเครื่องเล่นต่างๆ จากบุคคล/อาชญากรรม สังคม/เทคโนโลยี สุขภาพ/สุขภาพจิต ยาเสพติด/กลั่นแกล้งรังแกกัน/ค้ามนุษย์ ติดเกม สื่อออนไลน์/เพศ/ความรุนแรงทะเลาะวิวาท
3.ด้านภัยพิบัติ จากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย/อุทกภัยดินโคลนถล่ม /วาตภัย/อัคคีภัย/แผ่นดินไหว/สึนามิ จากมนุษย์ เช่น ไฟป่า/หมอกควัน/ฝุ่น PM 2.5 และจากโรคระบาด เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (covid -19) เป็นต้น
4.ด้านการเดินทาง ได้แก่ ทางบก เช่น รถของโรงเรียน รถของบุคคลภายนอก จักรยานยนต์/จักรยาน ทางน้ำ เดินเท้า และผู้ปกครองรับส่ง เป็นต้น
นายวันชัย กล่าวต่อไปอีกว่า การจัดทำระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยภายในโรงเรียนจะประสบความสำเร็จได้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการ โดยจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยของโรงเรียน กำหนดเป้าหมายและแผนระยะ 3 ปี ครอบคลุมทุกด้านทุกมิติของโรงเรียน กำหนดแผนงานโครงการกิจกรรมประจำปีอย่างเป็นรูปธรรม มีการปฏิบัติและรายงานผลการดำเนินงานของกิจกรรมตามช่วงเวลาที่กำหนดประเมินและรายงานผลการดำเนินงานของกิจกรรมตามช่วงเวลาที่กำหนด
มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับปรุงแผนงานปีถัดไป รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานสู่สาธารณะ เมื่อโรงเรียนมีการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว สามารถประกาศรับรองตนเอง หรือจะให้หน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมครูและผู้ปกครอง เป็นผู้รับรอง หรือจะให้หน่วยรับรอง (certification body) รับรองก็ได้ เพื่อยกระดับการจัดการด้านความปลอดภัยของโรงเรียนให้เป็นที่ยอมรับของสังคมและสากลทั่วไป
“นอกจาก สมอ. จะร่วมกับ สพฐ.จัดทำมาตรฐานโรงเรียนปลอดภัยแล้ว ยังได้เตรียมขยายผลต่อไปยังหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักการศึกษา กทม. เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการนำมาตรฐานโรงเรียนปลอดภัยไปประยุกต์ใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :