ในการเสวนา “องค์กรผู้ใช้น้ำ” สร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมิติใหม่ จัดโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 ณ โรงแรม รามา การ์เด้นส์ ได้มีคำถามจากผู้เข้าร่วมงานเสวนา และคำถามจากสื่อมวลชนใน 10 คำถามสำคัญ ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ได้ตอบคำถามดังนี้
1.ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่ผ่านมา ทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ความแตกต่างจากเดิมหลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
ตอบ : การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศที่ผ่านมา เป็นการบริหารทรัพยากรน้ำตามภารกิจและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างก็ดำเนินการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน ซึ่งหน่วยงานอื่น ๆ แม้จะมีภารกิจเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำในลักษณะเช่นเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นหรือร่วมดำเนินการในคราวเดียวกันได้ เพราะไม่ว่าแผนงานโครงการหรือแผนงบประมาณต่าง ๆ หน่วยงานใดจัดตั้ง หน่วยงานนั้นก็เป็นผู้ดำเนินการ จึงเป็นอุปสรรคต่อการบริหารทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศพอสมควร
เมื่อพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับแล้ว ทำให้การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี สทนช. เป็นหน่วยกลางด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ สทนช.เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ในการบูรณาการและบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในทุกมิติ มีนโยบายและแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริหารประเทศและประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ
2.บทบาทของ สทนช. ในการดำเนินการตามกฎหมายพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ. 2561
ตอบ : สทนช.นอกจากเป็นสำนักงานเลขานุการ กนช. ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะอนุกรรมการภายใต้ กนช. แล้ว ยังมี สทนช. ภาค ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และยังทำหน้าที่อีกหลายประการ เช่น
(1) กลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อ กนช. เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ
(2 กลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อ กนช. เพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและแผนงบประมาณการบริหารทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บท
(3) กลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อ กนช. เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำ
(4) จัดทำผังน้ำ เสนอ กนช. และประกาศราชกิจจานุเบกษา
(5) ประสานการดำเนินงานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ
(6) รวบรวมและจัดเตรียมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการ ๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของ กนช.
(7) ให้คำแนะนำและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำตามที่ได้รับการร้องขอ
(8) อำนวยการและกำกับดูแลโครงการสำคัญระดับชาติหรือโครงการเร่งด่วนที่จำเป็นต้องมีการประสานการทำงานหลายหน่วยงานตามที่ กนช. มอบหมาย
(9) ติดตาม ประเมินผล และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ และรายงานต่อ กนช.
(10) กำกับดูแลและบริหารจัดการระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ โดยให้หน่วยงานที่ กนช. กำหนดสนับสนุนข้อมูลและเชื่อมโยงระบบสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ
(11) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรน้ำ (การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษ์ การฟื้นฟู และการอนุรักษ์) และการดำเนินการอื่นใดเกี่บวกับทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ สทนช. ยังทำหน้าที่ในการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ในส่วนที่ สทนช. รับผิดชอบ อีกจำนวนหลายฉบับ เช่น พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำพ.ศ. 2564 กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. 2564 กฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 กฎกระทรวงการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2564 เป็นต้น
3.การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ที่ สทนช. ได้ดำเนินการในปัจจุบัน ทำให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมแล้วอย่างไรบ้าง
ตอบ : ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำหน้าที่ในการบูรณาการและบริหารทรัพยากรน้ำ โดยมุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารทรัพยากรน้ำให้มีความสอดคล้องกันในทุกมิติ และยังวางระบบในการบริหารทรัพยากรน้ำ โดยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ
แม้ว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจะเปิดรับการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนขององค์กรผู้ใช้น้ำทุกองค์กรผู้ใช้น้ำที่มาจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำได้ และกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำดังกล่าวยังสามารถได้รับการคัดเลือกไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรน้ำในระดับชาติได้อีกด้วย
สำหรับที่ผ่านมา แม้ว่าการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ถือว่าการออกแบบโครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำในขณะนั้น ยังได้ยึดโยงกับภาคประชาชนอยู่บ้าง เช่น กรรมการลุ่มน้ำที่มาจากผู้แทนผู้ใช้น้ำจากภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
4.เชิญชวนให้ประชาชนรวมกลุ่มกันยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ทางช่องทางใดบ้าง
ตอบ : สทนช.ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนบุคคลทั่วไปซึ่งใช้น้ำให้สามารถรวมกลุ่มไปจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งสามารถยื่นคำขอจะทะเบียนได้ในช่องทาง ดังต่อไปนี้
(1) โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก และยังสามารถยื่นได้ในช่องทาง ดังนี้
(2) กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
(3) จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ถึง 4
(4) นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ยังได้กำหนดให้สามารถยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ประเด็นคำถามจากสื่อมวลชนฯ
1.องค์กรผู้ใช้น้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เป็นองค์กรที่ทับซ้อนกับองค์กรผู้ใช้น้ำเดิมหรือไม่ อย่างไร
ตอบ : องค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน กฎหมายได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการรวมตัวกันของสมาชิกเพื่อการก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ รวมทั้งกำหนดกรอบการดำเนินงาน หน้าที่และอำนาจขององค์กรผู้ใช้น้ำไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น องค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำจึงไม่ได้ทับซ้อนกับองค์กรผู้ใช้น้ำหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานอื่น หากหน่วยงานใดมีกฎหมายหรือนโยบายในการจดทะเบียนก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในลักษณะทำนองเดียวกัน ก็คงเป็นเรื่องของหน่วยงานนั้น ๆ ที่สามารถดำเนินการได้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารทรัพยากรน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแต่ประการใด
2.ในพื้นที่ 1 ลุ่มน้ำ มีทั้งพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน กลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตชลประทานที่จดทะเบียนกับกรมชลประทานไว้แล้วจะต้องทำอย่างไร
ตอบ : กลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานและได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำกับกรมชลประทานไว้แล้ว ก็ยังเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีสิทธิในการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้ระเบียบหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่กรมชลประทานวางไว้ทุกประการ ไม่ได้เสียประโยชน์หรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิเพราะเหตุที่มีการจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแต่ประการใด ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำดังกล่าวจะรวมตัวกันมาจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำด้วยหรือไม่ก็ได้ แม้ไม่มาจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำ ก็ไม่มีความผิดใด ๆ เกิดขึ้น
3.ในส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทานเองก็อาจมีกลุ่มผู้ใช้น้ำที่หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งไว้แล้ว หากจะเข้ามาเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ต้องทำอย่างไร
ตอบ : อย่างที่เรียนแล้วในประเด็นคำถามที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้น้ำต่าง ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ในเขตหรือนอกเขตชลประทาน ย่อมมีสิทธิ หน้าที่ ในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เป็นไปตามที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด แม้ว่าจะไม่มาจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ก็ไม่เสียประโยชน์หรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิตามที่มีอยู่เดิม
แต่หากว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำดังกล่าวเหล่านั้นจะมาขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ก็สามารถกระทำได้โดยการรวมตัวของสมาชิกซึ่งใช้น้ำในบริเวณเดียวกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกันไม่น้อยกว่า 30 ราย ไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำได้ และทำให้มีสิทธิ หน้าที่และอำนาจในการบริหารทรัพยากรน้ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ
4.องค์กรผู้ใช้น้ำเดิมที่ตั้งไว้แล้ว มีกฎหมายอะไรรองรับหรือไม่
ตอบ : องค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำเดิม เป็นการก่อตั้งตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้น้ำได้มีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้ข้อกำหนดและข้อจำกัดบางประการ แม้ว่าอาจจะไม่มีกฎหมายใดรองรับโดยตรงก็ถือเป็นการบริหารทรัพยากรน้ำในลักษณะที่ประชาชนมีส่วนร่วม
5.ถ้าเป็นองค์กรไม่มีกฎหมายรองรับก็คงเลิกไปได้ไม่ยาก แต่ถ้ามีกฎหมายรองรับ การยกเลิกองค์กรผู้ใช้น้ำเดิมต้องทำอย่างไร จึงจะไม่ผิดกฎหมายเดิมที่ยังมีผลบังคับใช้
ตอบ : การเลิกองค์กรผู้ใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งโดยกฎหมายรองรับหรือไม่ ย่อมสามารถเลิกองค์กรผู้ใช้น้ำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หากเป็นความประสงค์ขององค์กรผู้ใช้น้ำนั้น ๆ อย่างเช่น องค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ แม้ว่ากฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. 2564 ไม่ได้กำหนดให้เลิกองค์กรผู้ใช้น้ำได้โดยตรงเพราะขัดต่อกฎหมายแม่บทที่ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่กฎกระทรวงดังกล่าวยังกำหนดให้สามารถเลิกการดำเนินงานขององค์กรผู้ใช้น้ำได้ หากว่าประสงค์ที่จะเลิกการดำเนินงาน
6.องค์กรผู้ใช้น้ำเดิมที่ย้ายมาจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแล้ว จะต้องยกเลิกองค์กรเดิมไปโดยปริยายหรือไม่ หรือว่ายังคงมีอยู่ตามเดิมต่อไป เช่น องค์กรผู้ใช้น้ำตามระเบียบของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ตอบ : องค์กรผู้ใช้น้ำเดิม หากจะไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ย่อมสามารถกระทำได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นการย้ายองค์กรผู้ใช้น้ำ เพราะองค์กรผู้ใช้น้ำเดิมจะยังคงสภาพอยู่หรือไม่ก็สุดแล้วแต่องค์กรนั้น ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ดีเดย์1 เม.ย.ขึ้นทะเบียน”องค์กรผู้ใช้น้ำ” ดึงคนพื้นที่ร่วมแก้ปัญหา
สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก
สทนช.รับลูกหนุนการใช้ยางพาราปูสระเก็บน้ำทุกหมู่บ้าน
สทนช.กางแผนจัดการน้ำเขต อีอีซี
ครม.อนุมัติโอนอำนาจ กรมทรัพยากรน้ำให้สทนช.
สทนช. ประเมินแล้ง "อีอีซี" ปีนี้ไม่น่าห่วง
สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก